อาชีพเสริมปูทางธุรกิจ
“อาชีพเสริมเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ลองผิดลองถูกกับธุรกิจที่เราต้องการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป”
ในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่หรือวัยกลางคนที่ทำงานมานานแล้ว ต่างก็มีความฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการกันทั้งนั้น อันที่จริงประโยชน์ของการทำอาชีพเสริมไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างรายได้เท่านั้น หลายคนทำเพื่อศึกษาหนทางต่อยอดเป็นเจ้าของกิจการในอนาคต
การทำอาชีพเสริมกับการเป็นเจ้าของกิจการเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกันมาก แตกต่างกันตรงที่คนหนึ่งทำงานเป็นลูกจ้างแล้วอาชีพส่วนตัวควบคู่กันไป ส่วนอีกคนหนึ่งทำอาชีพส่วนตัวเต็มเวลา อย่างไรก็ดี ทั้งสองแบบก็สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยกันทั้งคู่ หากจะให้เลือกทางใดทางหนึ่ง
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวผมแนะนำให้ลองไปเป็นลูกจ้างก่อน เพราะจะช่วยเราสั่งสมประสบการณ์ ได้เห็นตัวอย่างการตัดสินใจแก้ไขปัญหาหรือป้องกันปัญหาที่ธุรกิจกำลังเผชิญ และอาจนำประสบการณ์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคตได้ ดังนั้น อาชีพเสริมจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ลองผิดลองถูกได้แบบไม่ต้องรีบร้อน หากมองว่ามาถูกทางทำได้ดีมีกำไรก็ค่อยขยายผลต่อ แต่หากผิดพลาดก็อาจขาดทุนแต่ไม่กระทบอะไรมากเนื่องจากยังคงมีรายได้จากงานประจำรองรับอยู่
ตัวอย่างที่เคยพบคือ เด็กหนุ่มคนหนึ่งอายุราว 30 ปี ทำงานประจำเป็นพนักงานแบงก์ แล้วทำอาชีพเสริมด้วยการขายข้าวโพดคั่วเคลือบรสคาราเมล ตอนแรกก็ทำเล่นๆ เป็นของในงานเลี้ยง ต่อมาก็เริ่มพัฒนาไปเป็นรสชาติต่างๆ มากขึ้น และด้วยความใส่ใจต่อคุณภาพวัตถุดิบทำให้รสชาติเป็นที่ถูกปากของผู้ซื้อ ประกอบกับออกแบบแพ็คเกจได้สวยงามเหมาะเป็นของฝาก ทำให้รายได้จากอาชีพเสริมนี้แซงเงินเดือนไปเรียบร้อย จนในที่สุดก็ลาออกมาเพื่อตั้งทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่เคยพบนั้น หนุ่มคนนี้พอเรียบจบแล้วก็ออกมาเปิดบริษัทออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับกลุ่มลูกค้าฐานะมั่งคั่งในต่างประเทศ ซึ่งก็ขายได้ราคาดีและมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ภายหลังเจ้าของบริษัทต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายเพราะขาดความเข้าใจเรื่องเงินทุนหมุนเวียน
อธิบายโดยคร่าวๆ คือธุรกิจนี้ซื้อวัตถุดิบเป็นเงินสดแต่ขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ ทำให้การจะผลิตได้แต่ออเดอร์นั้นต้องอาศัยเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก ด้วยเหตุที่จบมาแล้วเปิดบริษัทเลยจึงไม่มีเงินสะสมของตนเอง ต้องใช้การหมุนเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็มาถึงทางตันเพราะการที่ออเดอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จนถึงจุดที่บริษัทแบกรับภาระหนี้ไม่ได้อีกต่อไป
สิ่งที่กล่าวมาเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง หากเราลองพิจารณาให้กว้างขึ้นจะเห็นว่ากิจการที่เปิดใหม่นั้นมักมีพื้นฐานการเงินไม่แข็งแกร่ง โดยจะต้องใช้เงินทุนไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การจ้างพนักงาน หรืออุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ขณะที่ฐานลูกค้ายังมีจำนวนน้อยหรือเป็นลูกค้าขนาดเล็กทำให้สร้างรายได้ไม่มากนัก ทำให้บางรายอาจเร่งสร้างยอดขายด้วยการหั่นราคาเพื่อให้ขายแต่แทบไม่มีกำไร บางรายอาจสั่งซื้อสินค้ามาตุนเยอะไว้เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง แต่เสี่ยงกับการขายออกไม่หมดทำให้เกิดปัญหาเงินทุนจม เป็นต้น
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่าถึงมีฝีมือดีความคิดดี แต่ขาด “ชั่วโมงบิน” แล้วการจะบริหารกิจการตัวเองอาจต้องสะดุดลง การที่ทำงานประจำพร้อมกับการลงมือเริ่มต้นธุรกิจที่เราอยากเป็นเจ้าของในอนาคตไปพร้อมๆ กัน น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันความผิดพลาดได้บ้าง
สุดท้ายนี้ สำหรับคนที่ลังเลว่าจะทำอาชีพเสริมดีหรือไม่นั้น คำตอบง่ายๆ คือ “ก็ลองทำดู” ครับ ไม่เช่นนั้นเราก็อาจมานั่งเสียดายในสิ่งที่เราไม่กล้าทำ อย่างที่ Mark Twain ได้กล่าวไว้ว่าในอนาคตเราจะพบว่าตัวเองจะผิดหวังกับสิ่งที่ไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ทำ
โดย : ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์, PhD
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://k-expert.askkbank.com/