ชีวิตออนไลน์กับ 3 ขั้นตอนจัดการรายได้

ชีวิตออนไลน์กับ 3 ขั้นตอนจัดการรายได้

ชีวิตออนไลน์กับ 3 ขั้นตอนจัดการรายได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทุกคน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีอินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอด ยิ่งสมาร์ทโฟนราคาเป็นมิตรมากขึ้น หาซื้อง่ายขึ้นทำให้ใครๆ ต่างก็ใช้กัน ไหนจะติดตามข่าวคราวบนโลกโซเชียล หรือติดต่อครอบครัวและเพื่อนฝูงผ่านแอพพลิเคชั่นแชท แถมยังทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ

แล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวกับหัวข้อที่เราจะพูดถึงยังไงล่ะ? ก็เจ้าอินเตอร์เน็ตนี่แหละค่ะ ที่มอบความสะดวกให้เราในการทำหลายสิ่งหลายอย่างออนไลน์ แม้แต่ ยื่นภาษีออนไลน์ และรวมถึงจัดการรายได้ด้วยค่ะ

การจัดการรายได้คืออะไร

การจัดการรายได้ คือการบริหารจัดการเงินของเรา เพื่อให้สภาพการเงินของเรามีสภาพคล่องดี มีเงินพอใช้สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็น และมีเงินออมอีกด้วย

นอกจากนี้ การจัดการรายได้ที่ดี ควรมีการดูแลเงินให้รอบด้าน คือ ต้องมีทั้งการวางแผนภาษี การลงทุน ประกันชีวิต รวมถึงการวางแผนสำหรับวัยเกษียณและการจัดการเรื่องมรดกด้วย

วิธีจัดการรายได้ในยุคออนไลน์

สิ่งที่คนในยุคนี้พบเจอกันมาก คือการที่ไม่มีเงินเหลือออมเสียที เพราะค่าเช่าที่พักก็ต้องจ่าย ค่าอาหารการกิน ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าใช้บริการโทรศัพท์รายเดือน และอื่นๆ อีกมาก ทำให้สุดท้ายแล้วก็แทบจะมีเงินใช้เดือนชนเดือน

ดังนั้น เราจะมาเปลี่ยนวิธีการจัดการเงินกันใหม่ โดยให้ “ออมก่อนใช้” หมายความว่า เมื่อมีรายได้เข้ามา ให้แบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออมก่อนเลย ที่เหลือหลังจากนั้นถึงจะเป็นเงินที่เอาไปใช้ได้ประจำเดือน เรามาทำความเข้าใจวิธีการจัดการรายได้ให้มีเงินออมกันดีกว่าค่ะ

ตั้งเป้าหมาย
เริ่มจากการรู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองก่อนโดยการจดบันทึกรายรับรายจ่าย เราจะได้เห็นว่าเรามีนิสัยการใช้เงินอย่างไรบ้าง จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนว่ามีตรงไหนที่ควรลดการใช้จ่ายได้บ้าง หรือตรงไหนที่สามารถใช้จ่ายได้มากกว่านี้ เป็นต้น

สำหรับใครที่ขี้เกียจจะมานั่งจด เราขอแนะนำให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น รายรับ รายจ่าย ไว้ในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของตัวเองไว้เลยค่ะ ไหนๆ เราก็พกของพวกนี้ติดตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว หลังรายรับเข้ามาหรือมีค่าใช้จ่ายอะไรก็จดลงในแอพเลย สะดวกและมั่นใจได้ด้วยว่าจะไม่ทำหายไปไหน เพราะรู้ๆ กันว่าราคาสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตไม่ใช่น้อยๆ ยังไงก็ต้องรักษาเท่าชีวิต ฮิๆ

จดไปเรื่อยๆ สัก 2-3 เดือน จะได้เห็นภาพรวมของเงินตัวเอง จะได้เอามาตั้งงบประมาณให้ตนเองได้ และถ้าอยากจะจดไปเรื่อยๆ หลังจากนี้ก็ยิ่งดีใหญ่เลยค่ะ

จากนั้น ก็มาตั้งเป้าหมายว่า อยากจะออมเงินเพื่ออะไร เป็นจำนวนเท่าไร และอยากมีเงินก้อนนั้นเมื่อไรเพื่อที่จะเอาไปใช้ได้ ตัวอย่างเช่น เราอาจจะตั้งเป้าว่า ในอีก 1 ปีข้างหน้า จะซื้อรถมือสองสักคันราคา 80,000 บาท พอตั้งเป้าหมายได้แล้ว เราจะได้เลือกวิธีเก็บเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายได้


เลือกวิธีเก็บเงิน
ข้อนี้ก็แล้วแต่ว่าเรามีเป้าหมายในการออมเป็นอะไรบ้าง โดยรูปแบบการออมอาจจะเป็นในรูปของ เงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวม เป็นต้น เพราะรูปแบบการเก็บเงินและเวลาที่ต้องการใช้เงินต้องตรงกัน

อย่างถ้าเราต้องการเก็บเงินไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เราควรฝากไว้ในออมทรัพย์หรือกองทุนตลาดเงิน เพราะเป็นเงินที่เราจะต้องถอนออกมาใช้อย่าางเร่งด่วน อย่าเก็บเงินตรงนี้ไว้ในกองทุนรวมที่มีความผันผวน เพราะถ้ามูลค่าหน่วยลงทุนลดลงในช่วงที่ต้องใช้เงิน เราจะได้เงินคืนมาลดลง

หรือถ้าเราต้องออมเงินสำหรับวัยเกษียณ ควรออมเงินระยะยาวใน RMF หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ เพราะมีดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่า อย่าเก็บเงินตรงนี้ไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพราะดอกเบี้ยต่ำ และถอนออกมาใช้ได้ง่าย เผลอๆ สุดท้ายจะไม่มีเงินเหลือไว้ใช้จนตอนเกษียณ

เปิดบริการออนไลน์
ให้ใช้บริการธนาคารออนไลน์หรือที่เราเรียกกันว่า E-Banking แค่โหลดแอพมาไว้ในสมาร์ทโฟน เราก็จะได้เห็นความเคลื่อนไหวของบัญชีเราได้ง่ายๆ รวดเร็วทันใจ แถมเวลาจะทำธุรกรรมต่างๆ ก็ทำได้เองง่ายๆ ทั้งฝาก โอน ถอน แค่ปลายนิ้วเอง

นอกจากนี้ เปิดบัญชีกองทุนรวมแบบออนไลน์ ตอนนี้มีหลายบริษัทที่ให้บริการขายกองทุนรวม เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์(โบรคเกอร์) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)

เอาล่ะ ต่อไปเราจะมาดูกันว่า เราจะนำทั้งสามข้อข้างต้นมาตั้งเป็นระบบอัตโนมัติของเราได้ยังไง โดยเราจะเริ่มจากสมการต่อไปนี้

รายได้ – เงินออม = รายจ่าย

เราจะแบ่งเงินของตัวเองออกเป็น 3 บัญชี คือ บัญชีเงินเดือน บัญชีเงินออม และบัญชีรายจ่าย ไม่ควรนำมาผสมกันเพราะเราจะสับสนเอาซะเอง

หลังจากนั้น ต่อด้วยสมการ

รายได้ – เงินออม – รายจ่ายจำเป็น = รายจ่ายยืดหยุ่น

เมื่อเราได้รับรายได้มา ให้ตัดเงินเข้าไปในส่วนเงินออมก่อน แล้วหลังจากนั้น ค่อยหักเข้าส่วนรายจ่ายจำเป็น ที่เหลือก็จะได้เป็นรายจ่ายยืดหยุ่นให้เอามาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

รายจ่ายจำเป็น VS รายจ่ายยืดหยุ่น

รายจ่ายจำเป็น หมายถึง ค่าใช้จ่ายประจำที่เราต้องจ่ายคงที่ ถ้าไม่จ่ายอาจจะมีปัญหาได้ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต

รายจ่ายยืดหยุ่น หมายถึง รายจ่ายที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า ไม่คงที่ โดยเราสามารถกำหนดได้เองว่า จะจ่ายมากหรือน้อย เช่น ค่าอาหาร เดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟ ค่าน้ำ เป็นต้น

ทีนี้ เรามาจัดระเบียบเงินเดือนกันดีกว่าว่าจะแบ่งอย่างไร สมมุติเงินเดือนเรา 15,000 บาท แบ่งสำหรับแต่ละบัญชีเป็น…

เงินออม 30% จะเท่ากับ 15,000 x 30% = 4,500 บาท
รายจ่ายจำเป็น 40% จะเท่ากับ 15,000 x 40% = 6,000 บาท
รายจ่ายยืดหยุ่น 30% จะเท่ากับ 15,000 x 30% = 4,500 บาท

พอวันเงินเดือนออก ระบบที่ตั้งไว้ก็จะแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ไปที่บัญชีเงินออม บัญชีรายจ่าย ต่อไปเราจะมาดูทีละส่วนว่า บัญชีเงินออมและบัญชีรายจ่ายมีอะไรบ้าง

บัญชีเงินออม

บัญชีนี้จะแบ่งย่อยออกมาเป็นเป้าหมายว่า เราจะใช้เงินไปทำอะไรในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพราะจะได้เลือกวิธีการเก็บเงินให้ตรงกับเป้าหมายนั้น

ระยะสั้น คือ เป้าหมายไม่เกิน 1- 3 ปี เช่น การออมเงินสำหรับเหตุฉุกเฉิน การออมเงินไปเที่ยว เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการเก็บเงินก็จะเน้นไปทางสร้างสภาพคล่องที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว เช่น ออมทรัพย์ ตลาดเงิน เป็นต้น

ระยะกลาง คือ เป้าหมายระยะ 3 – 5 ปี เช่น วางแผนการศึกษาให้ลูก เรียนต่อ แต่งงาน เป็นต้น โดยรูปแบบการเก็บเงินจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เช่น การฝากประจำ ตราสารหนี้(พันธบัตร หุ้นกู้) หุ้นสามัญ กองทุนรวมหุ้น เป็นต้น

ระยะยาว คือ เป้าหมายระยะเกิน 5 ปีขึ้นไป เช่น วางแผนสำหรับวัยเกษียณ เป็นต้น รูปแบบการเก็บเงินควรมีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น RMF พันธบัตร ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น

ทีนี้ เนื่องจากบัญชีเงินออมของเราเป็นจำนวน 6,000 บาท เราต้องตั้งเป้าหมายก่อนแล้วค่อยกลับมาคำนวณว่าจะต้องแบ่งเป้าหมายการออมแต่ละช่วงเวลาไปกี่ % เช่น เราวางแผนว่าจะเก็บเงินจ่ายค่าประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 19,000 บาท เราก็จะทยอยเก็บอัตโนมัติเดือนละ 1,585 บาท เมื่อถึงกำหนดจ่ายก็ถอนออกไปจ่าย

บัญชีรายจ่าย

พอเงินเดือนออก เราต้องเอาเงินไปจ่ายส่วนที่เป็นหนี้ก่อน (รายจ่ายจำเป็น) เพื่อกำจัดภาระตรงนี้ออกไปให้ได้เร็วที่สุด อย่างค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ยิ่งชำระหมดไวเท่าไร ยิ่งไม่ต้องแบกรับดอกเบี้ยนานๆ แล้วพอเหลือเท่าไร ก็นำเงินตรงนั้นมาใช้เป็นรายจ่ายยืดหยุ่น

สำหรับรายจ่ายยืดหยุ่น เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟ เราอาจใช้วิธีการชำระเงินแบบตัดบัญชีอัตโนมัติเพื่อความสะดวกรวดเร็วด้วยนะคะ สิ่งสำคัญคือเราต้องตรวจสอบใบเสร็จต่างๆ ก่อนถึงวันตัดบัญชีจะได้รู้ว่ารายการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกต้องไหม มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ถ้าเจอก็ต้องรีบติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไวที่สุด

ถ้าเราได้แผนการจัดการเงินในแต่ละเดือนออกมาแล้วว่าเงินจะไปอยู่ตรงส่วนไหนบ้าง จะทำให้การใช้เงินของเรามีความคล่องตัว มีระเบียบ เพราะเราได้วางกรอบของมันไว้อย่างเหมาะสมแล้ว

ทีนี้ เราก็พอจะมองเห็นภาพของการจัดการรายได้ในยุคนี้แล้ว การจัดการเงินเดี๋ยวนี้จะสะดวกมากยิ่งขึ้นถ้าเราใช้เทคโนโลยีกันอย่างถูกทาง เห็นไหมคะว่าการจัดการรายได้จริงๆ แล้วไม่ได้ยากเลย ถ้าขี้เกียจก็ต้องอดทนกันหน่อย ดีกว่าปล่อยให้เงินเดือนที่ได้มากระจัดกระจายไปโดยไม่รู้ที่มาที่ไป

ใครจะไปรู้ว่าสักวันหนึ่ง เราอาจเจอเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินจำนวนมากอย่างเริ่งด่วน และวันนึง เราทุกคนก็ต้องเลิกทำงานด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมต่อการทำงานหนักอีกต่อไป แล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างไรโดยไม่มีรายได้ในตอนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการเงินของเราในวันนี้แหละค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook