ลงทุนไม่สำเร็จเพราะ 7 สิ่งนี้

ลงทุนไม่สำเร็จเพราะ 7 สิ่งนี้

ลงทุนไม่สำเร็จเพราะ 7 สิ่งนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันเรื่องการลงทุนไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องสงวนไว้สำหรับคนรวยอีกต่อไปแล้ว ทุกคนสามารถลงทุนได้ตามสัดส่วนรายได้ของตนเอง ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนก็เข้าถึงง่ายดายจากแผงหนังสือและอินเตอร์เน็ต แต่ใช่ว่าทุกคนที่ลงทุนหรือทุกครั้งที่ลงทุน จะได้รับผลตอบแทนที่งดงามเสมอไป เพราะละเอียดปลีกย่อยของการลงทุนมีมากมาย ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง และตามสถิติพบว่าคนส่วนใหญ่ล้มเหลวจากการลงทุน เราลองมาดูภาพกว้างๆว่า เหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน หรือลงทุนแล้วไม่บรรลุเป้าหมายทางการเงินเป็นเพราะอะไรกันบ้าง


1. ไม่ยอมเริ่มต้น ไม่ขวนขวายหาความรู้ มีแต่พูดว่า ว่าจะ เดี๋ยวก่อน ยังไม่พร้อม เรียกว่าผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย เมื่อไม่ยอมเริ่มต้น ความรู้ในการลงทุนของเราก็ไม่งอกเงย รู้แบบฟังเขาเล่า ฟังข่าวลือ รู้จากสื่อแบบฉาบฉวย เหล่านี้ย่อมไม่สำเร็จแน่นอน เพราะการลงทุนเป็นศาสตร์ที่ต้องศึกษา อย่าลึกซึ้งพอสมควร


2. ขี้กลัว กลัวขาดทุน กลัวยุ่งยาก กลัวโดนหลอก จริงๆแล้วความกลัวเกิดจากความไม่รู้ ก็เราไม่ยอมเริ่มต้นศึกษา ไม่เดินไปหามัน ความกลัวก็จะยังคงอยู่ เพราะไม่เรียน ก็ไม่รู้ ก็คงต้องกลัวอยู่วันยังค่ำ ความจริงความกลัวเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักลงทุน เพราะจะทำให้เราไม่กล้าบ้าบิ่นจนเกินไป เรากลัวก็จริง แต่ความกลัวนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงที่เรารับได้ เมื่อเรามีความเข้าใจในความเสี่ยง เราก็จะไม่กลัวมากจนเกินไป แต่สิ่งที่จะขจัดความกลัวออกไปได้ ต้องเริ่มจากการ ก้าวเท้าออกไปลุยไปศึกษามันเสียก่อน อย่ามัวจินตนาการ อย่าคิดถึงการลงทุนในแง่ลบ เพราะอาจทำให้เราเสียโอกาสที่ดีไปก็เป็นได้


3. ไม่มีเวลา ติดตามข้อมูล จริงอยู่ที่เมื่อเราลงทุนอะไรไปแล้ว จะต้องให้เวลาส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ ติดตามข่าวสารข้อมูลในตัวสินทรัพย์ที่เราลงทุน แต่ปัจจุบันนี้ มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้เราใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องลงทุนก็มีเครื่องมือหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆช่วยย่นเวลาเราได้หลายแอพด้วยกัน ลองหามาใช้กัน และด้วยโบกของการลงทุนนั้นกว้างใหญ่ เราสามารถที่จะหาประเภทการลงทุนที่มีความเหมาะสมกับช่วงระยะเวลาว่างของเราได้ เช่น ถ้าไม่ค่อยมีเวลาก็ลองลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อย ไม่หวือหวา ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง


4. ลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดหรือไม่มีความรู้ นักลงทุนที่ชอบเล่นตามข่าว ลงทุนตามเพื่อน ตามญาติ หรือมีคนแนะนำ มักประสบปัญหานี้ เพราะคนแต่ละคนมีนิสัยและรูปแบบการดำเนินชีวิตต่างกัน ความชอบและความรู้ในเรื่องต่างๆก็มีไม่เท่ากัน คนที่มาชักชวนก็มาเหมาว่า ถ้าดีสำหรับเขาก็ต้องดีกับคนที่เขาอยากชวนด้วย คนที่รับคำชวนก็คิดว่าเมื่อเขาทำได้ดี เราก็คงทำได้ไม่เลวหรอกมั้ง พอถึงเวลาลงเงินไปแล้วจริงๆ การลงทุนนั้นๆอาจเหมาะกับคนหนึ่งและไม่เหมาะกับคนหนึ่ง ก็ได้และเป็นเรื่องธรรมดา

ดังนั้นให้ลงทุนในสิ่งที่เรารู้จะดีกว่า ลงทุนเพราะตามเพื่อน ตามญาติ หรือลงทุนไปเพราะเกรงใจคนชวน เงินเป็นของเรา ถ้าขาดทุน ก็ไม่มีใครมารับผิดชอบแทนเรา นอกจากตัวเอง ถือคติถ้าจะผิด ถ้าจะมาพลาด ขอให้เกิดด้วยน้ำมือตัวเองจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้บทเรียนที่คุ้มค่ากว่า


5. ใช้กลยุทธ์ผิดพลาด เดินหมากผิดแนว คือตัดสินใจผิดไปนั่นเอง หรือไม่ก็อาจเพราะ เดินเกมผิดไปตั้งนาน มารู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว เงินต้นหาย กว่าจะเรียกคืนมาได้ก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะหาเงินต้นมาได้อีก ทำให้ผลตอบแทนแคระแกร็น คล้ายๆกับหลงทาง เสียเวลา


6. ไม่เพิ่มจำนวนเงินออม คือไม่ใส่เงินลงไปเพิ่ม เมื่อเงินต้นน้อย ผลตอบแทนเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ย่อมต้องน้อยตามไปด้วย ดังนั้นยังคงต้องออมเงิน เก็บเงิน แล้วเอาเงินมาใส่ในกองการลงทุนเพิ่มและสม่ำเสมอ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เติมลงไปในตัวที่ขาดทุน แต่ให้เติมในภาพรวมของพอร์ตการลงทุนของเรา


7. ลงทุนแบบนักพนัน จริงๆการลงทุนกับการพนัน มีส่วนที่คล้ายกันในหลายๆส่วน โดยเฉพาะการลงทุนระยะสั้นๆ หรือที่เรียกว่าการเก็งกำไร บางทีนักลงทุนจะสับสนกับตัวเอง เพราะการเก็งกำไรนั้นมีความผันผวนสูงมาก ย่อมกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนมากด้วยเช่นกัน จนบางครั้งลืมนิยามและแนวทางการลงทุนของตนเอง กลายเป็นแบบนักพนันไปเลย
จะเห็นได้ว่า การลงทุนนั้นไม่ได้ง่ายดายอย่างที่จะคิด และไม่ใช่จะมีแต่ได้เพียงอย่างเดียว ความผิดพลาดหรือไปไม่ถึงฝั่งฝันด้านการลงทุน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจาก 7 ข้อดังกล่าวข้างต้น

สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการศึกษาเรียนรู้ ต้องเริ่มต้นให้ได้ก่อน ต้องกล้า แล้วความกลัวในสิ่งไม่รู้จะค่อยๆหายไป แล้วเราก็จะสามารถเดินไปบนเส้นทางของนักลงทุนได้เป็นผลสำเร็จ ส่วนผลตอบแทนนั้นจะสมดังที่เราหวังและตั้งใจไว้หรือไม่ อยู่ที่ฝีมือ ที่ต้องสั่งสม ต้องศึกษาให้ลึกซึ้งเฉพาะเจาะจงยิ่งๆขึ้นไปอีก

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook