สนั่น อังอุบลกุล บริหารองค์กรต้อง เปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา
หนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทย ที่สามารถสร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ปัจจุบันลูกค้าของศรีไทยซุปเปอร์แวร์กระจายไปทั่วโลกกว่า 110 ประเทศ แม้กระทั่งองค์กรนาซ่ายังทดลองใช้สินค้าภาชนะอาหารซึ่งใช้บนนอกโลกได้ ปัจจัยความสำเร็จที่ สนั่น อังอุบลกุล ยึดมาโดยตลอด คือองค์กรต้องมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ย้อนอดีตหลักแนวคิดสู่การเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การเป็นลูกจ้างในบริษัทนำเข้าเครื่องฉีดพลาสติกสัญชาติเยอรมันตั้งแต่จบปริญญาตรี ซึ่งถือว่าโชคดีที่ได้อยู่ในองค์กรที่มีระบบบริหารจัดการที่ดี ไม่ทำงานตามอารมณ์ ยึดหลักเหตุผลเท่านั้น มีกฎกติกาชัดเจนที่สามารถอธิบายได้และพนักงานทุกคนต้องทำทุกหน้าที่ได้
“ผมทำทุกหน้าที่ตั้งแต่งานธุรการจนถึงประชุมกับผู้จัดการ ทำให้ผมรู้ภาพกว้างทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบของการทำธุรกิจ และทำให้รู้ว่าถ้าคิดจะสร้างตัวต้องไม่ทำธุรกิจซื้อมาขายไปแต่ต้องมีเทคโนโลยีในตัวเอง”
หลังจากนั้น สนั่นกลับเข้ามาทำงานที่ศรีไทยพลาสติกซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว จากนั้นเขาพยายามปรับรูปแบบการบริหารให้เป็นมืออาชีพด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังคงความเป็น “เถ้าแก่มืออาชีพ” หลักการคือต้องตัดสินใจจากสิ่งที่เห็นและเกิดขึ้นจริงไม่อิงตามตำรา แต่ต้องอธิบายที่มาที่ไปได้ จนกระทั่งบริษัทเริ่มพัฒนาตนเองจากผู้ผลิตพลาสติกมาเป็นผลิตภัณฑ์เมลามีนจนได้รับการยอมรับ มีลูกค้ากว่า 110ประเทศในปัจจุบัน
สิ่งที่ศรีไทยฯ ยึดเป็นแนวทางธุรกิจมาโดยตลอดคือจะต้องทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน สำคัญ คือ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แม้ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจปี2550 บริษัทไม่ได้ชะลอการลงทุนมูลค่า 3,000 ล้านบาทเพื่อซื้อเทคโนโลยีเครื่องจักรใหม่ เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเพียงวิกฤติชั่วคราวเท่านั้น ถ้าเป็นธุรกิจที่ลอกเลียนแบบ และแข่งตัดราคากันหรือที่เรียกว่าธุรกิจ Me Too ศรีไทยฯ จะไม่ทำ นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาพนักงานให้มีความสามารถขึ้นด้วยไม่ใช่ทำงานไปวันๆ
ต่อมาการทำธุรกิจต้องเสริมจุดแข็งจุดอ่อนระหว่างกัน ในรูปแบบของการร่วมธุรกิจกับซัพพลายเออร์หรือลูกค้าในรูปแบบพันธมิตร เช่น ที่ไปร่วมมือกับปูนซีเมนต์ไทยหรือปตท.โกลบอลเคมีคอลพัฒนาวัตถุดิบประหยัดพลังงาน เป็นต้น
ที่สำคัญ คือ การทำธุรกิจจะต้องโตและแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ศรีไทยฯ มองโอกาสนี้มานานซึ่งเป็นทั้งโอกาสและปัจจัยคุกคาม นอกจากนั้น การลงทุนทุกครั้งต้องสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาประเทศ อย่างเช่น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นครัวของโลก ศรีไทยฯ จึงได้ลงทุนพัฒนาภาชนะใส่อาหารเครื่องดื่มรองรับการขยายตัว ทำให้ตอนนี้เราสามารถผลิตฝาปิดขวดน้ำที่เบาที่สุดในโลกได้
สนั่นกล่าวถึงแนวคิดและปรัชญาในการบริหารให้ประสบความสำเร็จจะต้อง
หนึ่ง...กล้าทำ อย่างเช่น สมัยวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2550 ถ้ามั่นใจว่าเป็นเพียงแค่ชั่วคราวไม่เหมือนสมัยปี2540 ต้องกล้าลงทุนไปเลย
สอง...มีเครือข่ายครบทุกด้าน เพราะจะทำให้เรามีข้อมูล แหล่งทรัพยากรที่รอบด้าน และอาจเจอแหล่งวัตถุดิบทรัพยากรที่ถูกและดี หรือแม้กระทั่งภาวะวิกฤตเราจะสามารถช่วยเหลือกันได้
สาม...ต้องรักษาเครดิต ความน่าเชื่อถือ เงินทองเสียได้แต่เครดิตห้ามเสียเด็ดขาด สี่..ไม่อยู่นิ่ง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากตราสัญลักษณ์ของบริษัท ซึ่งเป็นนกเพนกวิน มีความหมายเพราะเป็นสัตว์ที่น่ารักไม่มีพิษภัยและสามารถปรับตัวเข้ากับทุกสภาพอากาศไม่ว่าหนาวหรือร้อน เดินบนบกจะช้าแต่ถ้าลงในน้ำจะไวเหมือนจรวด เหมือนกับการทำธุรกิจที่บางครั้งต้องช้าบางครั้งก็ต้องเร็ว
ที่สำคัญบริษัทมุ่งเน้นให้พนักงานมีแนวความคิดดังกล่าวด้วยว่าไม่มีสิ่งใดดีที่สุด ต้องมีการหาสิ่งใหม่เสมอ จึงเกิดเป็นปรัชญาการบริหาร TPM โดย T คือ Technology จะต้องมีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ศรีไทยฯ เป็นผู้ผลิตเมลามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
P คือ People ต้องลงทุนเสริมสร้างศักยภาพคน บางบริษัทอาจส่งคนไปเรียนสถาบันมีชื่อในต่างประเทศไม่กี่คน และนำมาถ่ายทอด แต่ศรีไทยฯ ลงทุนนำผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาสอนให้พนักงานทุกคนถึงที่
ส่วน M คือ Management ที่ศรีไทยฯ มีระบบการจัดการโดยใช้ LEAN หลักการ คือทำงานต้องไม่เปลืองทรัพยากรคนและวัตถุดิบและเน้นประสิทธิภาพออกมาให้สูงที่สุด กล่าวคือ ระบบการผลิตการตลาดต้องเป็นจริง ตรวจสอบได้ทันที เช่น เครื่องจักรต้องรู้ว่าจุดไหนหยุดผลิตและเพราะอะไร ฝ่ายการตลาดต้องเช็กยอดสินค้าและรู้ต้นทุนได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามีปัญหาจะต้องหาผู้รับผิดชอบได้ทันที
“ปรัชญาสุดท้ายเราต้องทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าทำไม่ได้ อย่างเช่น ฝาปิดขวดน้ำที่บางและเบาที่สุด หรือภาชนะที่สามารถนำขึ้นไปใช้ที่ดวงจันทร์ได้ เราก็เป็นผู้ผลิตขึ้นมาให้นาซ่า ถ้าอนาคตมีความต้องการใช้จริงเขาจะต้องการสินค้าของเราเอง วิธีคิด คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ฮึกเหิมกับทั้งตัวผมและพนักงาน”
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ประสบปัญหา วิธีการแก้ไข คือต้องมีความรู้ความชำนาญเพื่อที่จะมองเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน แนวคิดนี้ได้มาจากผู้นำของจีนท่านหนึ่งว่าเมื่อเกิดปัญหาเราต้องมองข้ามแต่ไม่ใช่ละเลย ถ้ายังคิดวนไปวนมาความเสียหายก็ยังอยู่และจะส่งผลต่อคนอื่นด้วย ให้เราไปทำสิ่งใหม่ที่มองไปข้างหน้า สักพักที่เคยเป็นปัญหาก็จะไม่ใช่
“มีคำกล่าวว่าเลี้ยงกองทัพไว้ 100 ปีเพื่อสู้ศึกครั้งเดียว เราต้องมองก้าวข้ามปัญหาไปให้ได้ถึงจะได้ชัยชนะ”
สำหรับเป้าหมายของศรีไทยฯ ในยุคต่อไป สนั่นบอกว่า AEC 2015 บริษัทได้เตรียมพร้อมแข่งขันมากว่าสามปีแล้ว เริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิดภายในให้มีการพัฒนาสินค้ารองรับคนกว่า 600 ล้านคน ปัจจุบันเรามีลูกค้าครบทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน และกำลังขยายไปถึงออสเตรเลีย ก้าวต่อไป คือ การขยายฐานผลิตไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค อย่างตอนนี้เรามีโรงงานที่อินโดนีเซีย เวียดนาม กำลังสร้างที่ลาว และมีแผนจะไปพม่าและกัมพูชา ขณะที่ประเทศจีนเราเข้าไปทำตลาดมา 22 ปีแล้ว และต่อไปคืออินเดีย
ปัจจัยที่มีผลต่อการแข่งขัน คือ เรื่องแรงงานต้องเปลี่ยนวิธีการจากเดิมเน้นแรงงานจำนวนมากหรือ Labor Intensive ต้องเปลี่ยนมาเน้นเครื่องจักรให้เป็น Capital Intensive หรือการแข่งขันโดยใช้เงิน มากขึ้น แต่อนาคตเราน่าจะใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติต้นทุนต่ำได้อย่างถูกกฎหมายมากขึ้น.
สนั่นปิดท้ายเรื่องแนวคิดการเป็นซีอีโอที่ดีว่าจะต้อง “ติดดิน” ลูกน้องเข้าถึงได้ ต้องมีการกระจายอำนาจ สร้างความผูกพันกับพนักงาน ส่วนแนวทางการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีให้ประสบความสำเร็จ ต้องให้ความสำคัญกับระบบการผลิตต้องมีของเสียให้น้อยที่สุด จัดการระบบการเงินให้ดีอย่าให้รั่ว และสุดท้ายต้องสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง
ที่มา : K SME Inspired