เมื่อตัวเองเป็นแค่ทางผ่านของเงินเดือน แล้วชีวิตจะเหลืออะไร

เมื่อตัวเองเป็นแค่ทางผ่านของเงินเดือน แล้วชีวิตจะเหลืออะไร

เมื่อตัวเองเป็นแค่ทางผ่านของเงินเดือน แล้วชีวิตจะเหลืออะไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีความฝันอันสวยหรูเมื่อเริ่มทำงานว่าภายในปี XXX จะต้องเก็บเงินให้ได้เท่านั้นเท่านี้ เพื่อที่ตัวเอง พ่อแม่และลูกเมียจะได้สบาย


ทว่าพอเข้าสถานการณ์จริงดูเหมือนว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นได้แค่อุดมคติ ไม่มีวันเป็นจริง สำหรับมนุษย์เงินเดือน คนทำงานหลายคน กลายสภาพจากแหล่งหาเงินทุนกลายเป็นเพียงทางผ่านของเงินเดือน พอรับมาแล้วก็จ่ายไป พอรู้ตัวอีกทีหนึ่งก็พบว่าตัวเองมีเงินเก็บอยู่แค่นิดเดียว บางคนไม่มีเงินเก็บเลยสักบาทด้วยซ้ำ จนเกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมแทนที่เราจะกลายเป็นแหล่งเงินทุนให้พ่อแม่ลูกเมียสบาย กลายเป็นแค่ทางผ่านของเงินเดือน อย่าว่าแต่พ่อแม่เลย แม้ตัวเราเองก็ยังไม่ได้อะไรจากการทำงานมาร่วม 5 ปี 10 ปี เลย


จากการข้อมูลเราพบกับกระทู้ ๆ หนึ่ง ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ชื่อกระทู้ว่า “มนุษย์เงินเดือนเรา...เก็บเงินได้เท่าไหร่แล้วครับ เก็บยังไง อะไรคือสาเหตุที่เก็บเงินไม่อยู่บ้างครับ...แชร์กันครับ” อ้างอิง : http://pantip.com/topic/31528279 ซึ่งในกระทู้ก็มีคนมาตอบถึง 43 ความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ มนุษย์เงินเดือนในกระทู้นั้นจะเล่าว่าตนเองได้เงินเดือนอยู่เดือนละ XXX บาท แล้วต้องนำมาใช้จ่ายทั้งค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ฯลฯ พอรู้ตัวอีกที เงินก็หมดแล้ว

แต่บางคนก็บอกว่าจริงๆ แล้ว ตนเองได้เงินเดือนมาก แต่เพราะเป็นคนใจดี เจอใครก็ต้องซื้อของไปฝากเขาเสมอ ใครมาขอยืมก็ให้ยืม รู้ตัวอีกที เงินเดือนก็หมดไปกับการซื้อของฝาก การให้คนอื่นยืมไปแล้ว หรือไม่บางคนก็หมดไปกับของฟุ่มเฟือย อย่างไม่รู้จะทำอะไรก็ไปชอปปิ้ง ซื้อพวกเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บางเดือนเรียกได้ว่าซื้อทุกสัปดาห์และในที่สุดเงินก็หมดไปกับสิ่งของเหล่านี้


แม้ว่าในกระทู้จะมีอยู่หลายสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนหลายคนกลายเป็นเพียงทางผ่านของเงินเดือน แต่เมื่อนำมาสรุปประเด็นแล้ว ก็จะได้ว่าสาเหตุที่มีปัญหาดังกล่าว เป็นเพราะ “ไม่รู้จักวางแผนการใช้เงิน” พอรายจ่ายมารอและได้เงินมาก็ใช้ ๆ ไปก่อน ไม่นึกถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้พอบางเดือนมีค่าใช้จ่ายน้อย เงินเก็บก็จะมาก แต่เดือนไหนมีค่าใช้จ่ายมาก รายได้ก็แทบจะไม่เหลือเลย อาจดูเหมือนว่าเป็นจุดบกพร่องเล็ก ๆ แต่จุดบกพร่องเล็ก ๆ นี่แหละที่อันตรายมาก เพราะนำไปสู่ความเสี่ยงของการไม่มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน อย่างเช่น ถูกให้ออกจากงานหรือคนในครอบครัวประสบเหตุที่ต้องใช้เงิน อีกทั้งยังทำให้ไม่มีเงินเก็บไว้ดูแลตัวเองยามชราอีกด้วย กลายเป็นปัญหาใหญ่กันเลยทีเดียว


จากที่กล่าวมาทั้งหมด เชื่อว่าผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ คงจะรู้ว่าสาเหตุที่มนุษย์เงินเดือนเก็บเงินไม่อยู่คืออะไร และเป็นปัญหาร้ายแรงขนาดไหน เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่ในวัฏจักรแบบนั้น จงหาทางออกโดยเร็ว ต่อไป เราจะไปดูกันว่า ทำอย่างไร เราจึงจะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่เป็นแหล่งเงินทุนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทางผ่านของเงินเดือนแบบที่เคยเป็นมา


ข้อสำคัญที่สุดประการแรก ก็คือ ต้องรู้จักวางแผนทางการเงิน อย่าคิดแต่ว่า ถ้าเงินเหลือแล้วค่อยเก็บก็ได้ เพราะถ้าคิดอย่างนั้น เงินมันจะไม่เหลือเลย ต้องมีการทำบัญชีให้แน่ชัดว่าเดือนนี้ได้เงินมาเท่านี้จะต้องเอาไปใช้อะไรบ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต รวมทั้งค่ากินของตนเองและคนในครอบครัวด้วย เพื่อที่จะได้รู้ทิศทางที่แน่นอนต่อให้มีอะไรที่เกินงบมา ก็ไม่เจ็บตัวมากและที่สำคัญ กำหนดเงินออมให้แน่ชัดไปเลย ว่าจะออมครั้งละกี่บาท แต่จำนวนที่กำหนดไว้ก็ต้องไม่สูงเกินไป เพราะอาจทำให้ทำตามไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่เก็บ อาจจะกำหนดไว้สัก 500 บาท 1,000 บาทต่อเดือน ก็ได้

เพื่อให้ทำตามได้จริง ๆ อย่าเพิ่งรีบหมิ่นว่าเงินออมทีละน้อย ๆ แล้วจะเอาไปทำอะไรได้ ขอบอกว่าต่อให้เงินออมต่อครั้งน้อย แต่ถ้าออมติด ๆ กันเป็นเดือน เป็นปี มันก็อาจจะกลายเป็นหลักหมื่น หลักแสน หลักล้านก็ได้


ขั้นต่อมา ถ้าอยากจะมีเงินเก็บ คือ อย่ายึดติดทำแต่งานประจำเพียงอย่างเดียว ลองเอาเงินออมที่ได้จากข้อที่ 1 ไปลงทุนบ้าง อาจจะลงทุนรับสินค้ามาขายหรือลงทุนในหุ้น กองทุนรวมแห่งประเทศก็ได้ พวกการลงทุนเหล่านี้จะทำให้เงินเกิดการงอกเงยขึ้น ไม่แช่แข็งอยู่ที่เดิมเป็นเวลานาน ๆ บางคน ออมเงินได้จำนวนหนึ่งแล้วเอาไปลงทุนหุ้น จนทุกวันนี้ได้เงินปันผลมา 4-5 เท่าของเงินออมเดิมก็มี แต่ทั้งนี้การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง


ข้อสำคัญข้อสุดท้าย คือ อย่าเป็นหนี้เด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือนอกระบบก็ตาม เพราะหนี้นี่แหละ เป็นตัวการสำคัญที่จะดูดเงินรายได้ของเราไป แต่ทีนี้ หนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ หนี้จำเป็น เช่น การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟต่าง ๆ อันนี้จะห้ามไม่ให้เป็นก็คงไม่ได้ ดังนั้น เราต้องบริหารหนี้ส่วนนี้ให้อยู่ในกำลังของเรา อย่าทำให้มันงอกจนจ่ายไม่ไหว

กับหนี้แบบที่ 2 คือ หนี้ไม่จำเป็น ซึ่งเกิดจากการกู้เงิน รูดบัตรเครดิต เพื่อนำเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือย หนี้ส่วนนี้ ขอให้ควบคุมอย่าให้มันเกิดขึ้นมาเด็ดขาด ขอให้ใช้เงินแต่พอดี อย่าเกินตัวจนต้องไปสร้างหนี้ตัวนี้ขึ้นมา


วัฏจักรการเป็นทางผ่านเงินเดือนของมนุษย์เงินเดือนนั้น แม้จะไม่ได้ก่อความเดือดร้อนในตอนนี้ แต่มันจะส่งผลชัดเจน เมื่อเกิดวิกฤติในชีวิตหรือเมื่อต้องเกษียณอายุการทำงาน เพราะฉะนั้น หากมนุษย์เงินเดือนคนใดกำลังประสบกับชะตากรรมนี้อยู่ ขอให้เริ่มเก็บเงิน วางแผนการเงินเสียตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินไป

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook