แนวทางบริหารการเงินส่วนบุคคล " แบบคนบริหารเงินเป็น "

แนวทางบริหารการเงินส่วนบุคคล " แบบคนบริหารเงินเป็น "

แนวทางบริหารการเงินส่วนบุคคล " แบบคนบริหารเงินเป็น "
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าเรามีเงินอยู่ก้อนหนึ่งเราจะบริหารอย่างไรให้เงินก้อนนั้น เพิ่มพูนขึ้น หรือเราจะใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไรที่ไม่ทำให้การเงินของเราเดือดร้อนถึงขั้นวิกฤติ คือเงินขาดมือ ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เป็นหนี้สิน การบริหารการเงินส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญต่อชีวิตมาก คนที่บริหารเงินเป็นย่อมอยู่อย่างสบายใจ แต่คนที่บริหารเงินไม่เป็นก็มีแต่ความทุกข์ ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูแนวทางการบริหารเงินอย่างง่าย ๆ กันว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

การบริหารการเงินส่วนบุคคลคืออะไร
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการบริหารการเงินส่วนบุคคลคืออะไร ถ้าพูดอย่างง่าย ๆ ก็คือการจัดระเบียบการเงินของคุณอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง และจะจัดระเบียบอย่างไรล่ะ ก็คือการรู้จักหาเงินเข้ามาและใช้จ่ายออกไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ พูดอีกอย่างคือการบริหารรายรับและรายจ่ายนั่นเอง

แนวคิดการบริหารการเงินส่วนบุคคล
ก่อนอื่นเรามาดูแนวคิดการบริหารเงินส่วนบุคคลแบบกว้าง ๆ กันก่อนว่าเราจะบริหารเงินไปทำไม จะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด และการบริหารเงินได้ผลจริงหรือ

1.บริหารการเงินไว้มั่นใจไม่เสี่ยง
จะว่าไปแล้วชีวิตของคนเรานั้นมีความเสี่ยงมากมายที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้ ถ้าเราไม่คิดถึงจุดนี้เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากระทบจะทำให้เดือดร้อนในเรื่องการเงินทันที ตรงนี้เองที่เราจะต้องบริหารการเงินส่วนบุคคล เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้น ณ วันใดวันหนึ่งข้างหน้า เช่น การเลิกจ้างงานแบบไม่ทันตั้งตัว การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง การบริหารการเงินในจุดนี้ที่หลายคนทำกันคือ การกันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามจำเป็น หรือเกิดความเสี่ยงที่ยากจะคาดเดาได้ในชีวิต ซึ่งบางคนเลือกบริหารการเงินด้วยการทำประกันชีวิต ทำประกันสุขภาพ หรือการประกันการว่างงาน นับว่ามีความรอบคอบทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

2.บริหารการเงินบริหารชีวิต
หากพูดว่าเงินคือชีวิตชีวิตคือเงินก็คงไม่ผิดนัก เพราะทุกชีวิตย่อมเกี่ยวข้องกับเงิน ปัจจุบันเป็นยุคแห่งการแลกเปลี่ยนที่ใช้เงินเป็นตัวกำหนด เมื่อทำงานได้เงินมาจึงต้องบริหารให้ดี ชีวิตก็จะมั่นคงขึ้น โดยมีหลักการบริหารการเงินคือ การไม่ใช้จ่ายเงินเกินกว่ารายได้ที่มีอยู่ การอดใจไม่สร้างหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ และอื่น ๆ ซึ่งคุณจะสามารถทราบได้ว่ามีรายได้เท่าไร และควรจะจ่ายเพื่อสิ่งใดบ้าง และจะมีเงินออมเท่าไร ก็ด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้ข้อมูลตามจริง

3.บริหารการเงินกับการลงทุน
ต้องยอมรับว่าการลงทุนนำมาซึ่งความมั่งคั่ง การบริหารเงินส่วนนี้จะช่วยให้คุณมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น เมื่อคุณมีเงินออมเพียงพอก็นำเงินออมนำไปทำให้เกิดผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีการลงทุนในหลายรูปแบบ เช่น ลงทุนในกองทุน พันธบัตรรัฐบาล ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในหุ้น เป็นต้น โดยคุณสามารถหาความรู้เรื่องการลงทุนได้ง่ายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรือข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตที่เชื่อถือได้ ในระยะแรกของการลงทุนคุณควรเริ่มจากเงินจำนวนน้อยก่อน เพื่อซึมซับความเข้าใจและวิธีการ เมื่อมีประสบการณ์และความเข้าใจแล้วจึงค่อยตัดสินใจพิจารณาลงทุนเพิ่มอีกครั้ง

4.รักษาระดับความมั่งคั่ง
เมื่อคุณลงทุนจนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแล้วแล้ว ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรรักษาระดับความมั่งคั่งให้อยู่ไปนาน ๆ ซึ่งมีหลายวิธีที่จะทำได้ เช่น การหาที่ปรึกษาทางการเงินให้เข้ามาดูแล หรือการทำประกันอัคคีภัยสำหรับสินทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

การที่เรารู้จักบริหารการเงินส่วนบุคคล ด้วยการวางแผนในการใช้จ่ายเงิน การออมเงิน รวมไปถึงการลงทุน จะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตควบคุมได้และรู้สึกมั่นคงปลอดภัย หากยังไม่เคยบริหารการเงินมาก่อน เราสามารถเริ่มต้นบริหารการเงินได้ทันที แล้วลองประเมินผลดูว่าระหว่างวางแผนการเงินกับไม่วางแผนการเงินนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร

ขั้นตอนง่าย ๆ ในการวางแผนการเงิน

1.เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายทางการเงินก่อนว่าต้องการนำเงินไปใช้ในเรื่องอะไร และต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย เช่น อยากมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณเดือนละเท่าไรถึงจะรู้สึกมั่นคง เป็นต้น เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วก็ลงมือทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้

2.จากนั้นทำการรวบรวมข้อมูลทางการเงินของตนที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานจะมีความสำคัญต่อการวางแผนทางการเงินเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างข้อมูล เช่น บัญชีเงินฝากธนาคาร กรมธรรม์ประกันชีวิต โฉนดที่ดิน ทะเบียนรถ สัญญาการกู้ยืมเงิน เอกสารการลงทุน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ควรรวบรวมไว้เพื่อใช้ในการวางแผนทางการเงินต่อไป

3.เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้วก็นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อดูว่าปัจจุบันคุณมีฐานะการเงินเป็นอย่างไร บรรลุเป้าหมายหรือยัง ยังขาดเหลือตรงไหนบ้าง จะได้หาเพิ่มเติมด้วยวิธีการอื่น ๆ ต่อไป

4.จากนั้นให้จัดทำแผนการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด ในการหารายได้หรือแหล่งเงินทุน เพื่อการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน

5.นำแผนทางการเงินที่ได้ไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการลงมือทำ คุณสามารถประเมินผลเป็นระยะๆ ว่าสามารถทำได้ตามแผนหรือไม่

6.ถ้ายังไม่เป็นไปตามแผน ก็ให้ปรับแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยหลังจากที่ได้ปฏิบัติตามแผนไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ลองทำการประเมินผลดูว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันหรือเปล่า ถ้าไม่ก็สามารถปรับแผนให้สอดคล้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้ได้

การวางแผนทางการเงิน มีความสำคัญช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงิน ในระหว่างทางเราสามารถทบทวนและปรับปรุงแผนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อผลลัพธ์ที่ต้องการตามเป้าหมาย

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook