แนะเกษตรกร กาฬสินธุ์ ปลูกข้าวโพดซุปเปอร์ชี้กำไร 41,000 บาทต่อไร่
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 เผยผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญสินค้าข้าว จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมแจงต้นทุนการผลิตในพื้นที่เหมาะสม และไม่เหมาะสม แนะ ส่งเสริมปลูกข้าวโพดซุปเปอร์ ถั่วฝักยาว ข่า และเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เนื่องจากผลตอบแทนสูง ใช้ระยะเวลาการผลิตไม่นานนาน และมีตลาดรองรับ
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning : ข้าว) อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 439,668 ไร่ โดยมีพื้นที่ความเหมาะสมมากและปานกลาง (S1,S2) สำหรับปลูกข้าว 165,241 ไร่ มีการปลูกจริง 142,684 ไร่
ส่วนพื้นที่เหมาะสมเล็กน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) จำนวน 211,945 ไร่ มีการปลูกข้าว 45,133 ไร่ ซึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ทุกตำบลมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหมาะสมเพื่อปลูกข้าวจริง และในพื้นที่ไม่เหมาะสมมีการปลูกข้าวบ้างเพียงเล็กน้อยเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
สำหรับผลการศึกษาด้านต้นทุน พบว่า พื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง มีต้นทุน (เป็นเงินสดและไม่เป็นเงินสด)เฉลี่ย 5,993 บาทต่อไร่ เป็นค่าแรงงานการเก็บเกี่ยวมากที่สุด 997 บาทต่อไร่ รองลงมาคือ ค่าวัสดุปุ๋ยเคมี 508 บาทต่อไร่ ค่าเตรียมดิน 457 บาทต่อไร่ และ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 422 กิโลกรัมต่อไร่ ขายได้ราคา 11 บาทต่อกิโลกรัม รายได้ 4,638 บาทต่อไร่ ขาดทุนเฉลี่ย 1,355 บาทต่อไร่ ถือว่าเกษตรกรขายข้าวขาดทุน แต่หากคิดเฉพาะต้นทุนที่เป็นเงินสด เกษตรกรก็ยังมีกำไรเฉลี่ย 1,788 บาทต่อไร่
ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสมเล็กน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) พบว่า มีต้นทุน (เป็นเงินสดและไม่เป็นเงินสด) เฉลี่ย 4,895 บาทต่อไร่ โดยมีค่าปุ๋ยเคมีมากที่สุด 1,212 บาทต่อไร่ รองลงมาคือ ค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต 859 บาทต่อไร่ ค่าเตรียมดิน 587 บาทต่อไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 277 กิโลกรัมต่อไร่ ขายได้ในราคา 11 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 3,045 บาทต่อไร่ ทำให้เกษตรกรขาดทุนเฉลี่ย 1,850 บาทต่อไร่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงจากการใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เตรียมดิน และวัสดุปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรขายข้าวขาดทุน แต่ถ้าคิดเฉพาะต้นทุนที่เป็นเงินสดเกษตรกรก็ยังมีกำไรเฉลี่ย 582 บาทต่อไร่ ซึ่งถือว่าน้อยมาก
จึงควรแนะนำให้ปลูกเพียงเล็กน้อยเพื่อบริโภคเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวควรปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลัง เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยมันสำปะหลัง มีต้นทุนในการปลูกเฉลี่ย 6,881 บาทต่อไร่ มีรายได้ 8,511 บาทต่อไร่ ได้กำไรสุทธิเฉลี่ย 1,630 บาทต่อไร่
ด้านนางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม จากผลการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยสอบถามความคิดเห็นของเกษตรกร พบว่า ควรมีการเพิ่มผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต โดยการถ่ายทอดความรู้การเพิ่มผลผลิตข้าว ความรู้เรื่องปุ๋ยสั่งตัด ส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิต เช่น เครื่องหยอดเพื่อลดการใช้เมล็ดพันธุ์ รถเกี่ยวข้าวเพื่อลดค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีราคาแพง ส่งเสริมผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เอง
ทั้งนี้ พืชทางเลือกอื่นๆ ที่ควรส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มรายได้ เนื่องจากราคาดี และผู้บริโภคต้องการ ได้แก่ ข้าวโพดซุปเปอร์ ได้กำไร 41,000 บาทต่อไร่ ถั่วฝักยาว กำไร 48,000 บาทต่อไร่ ข่า มีกำไร 21,325 บาทต่อไร่ เลี้ยงกุ้งกุลาดำได้กำไร 12,650 บาทต่อไร่ ซึ่งจะเห็นว่าได้รับผลตอบแทนสูง การปลูกและการเลี้ยงไม่ได้ใช้ระยะเวลานาน มีตลาดรองรับ เหมาะสำหรับการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งหากเกษตรกรอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 โทร. 043 261 1513 หรืออีเมล zone4@oae.go.th
ขอบคุณภาพประกอบจาก กรมวิชาการเกษตร www.http://khamsakaesaeng.khorat.doae.go.th/