แชร์ลูกโซ่ กลโกงที่แอบแฝงมาในรูปแบบของธุรกิจ

แชร์ลูกโซ่ กลโกงที่แอบแฝงมาในรูปแบบของธุรกิจ

แชร์ลูกโซ่ กลโกงที่แอบแฝงมาในรูปแบบของธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่มาของแชร์ลูกโซ่ก็มาจากการเล่นแชร์ในหมู่เพื่อนฝูงกันก่อนนี่เอง สมัยก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็น่าจะยังมีที่กลุ่มเพื่อนฝูงที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดและไว้เนื้อเชื่อใจกันจะมารวมกลุ่มกันเพื่อเล่นแชร์ ซึ่งการเล่นแชร์ก็หมายถึงการที่แต่ละคนในกลุ่มออกเงินมาคนละจำนวนหนึ่งแล้วแต่ตกลงกัน เช่น 10,000 บาท สมมติว่าเล่นแชร์กันทั้งหมด 10 คน เล่นรอบหนึ่งก็จะมีเงิน 100,000 บาท ในแต่ละรอบทุกคนก็มีสิทธิ์เปียแชร์โดยเขียนจำนวนดอกเบี้ยที่เราจะให้ลงในกระดาษ เมื่อเปิดออกมาใครที่ให้ดอกเบี้ยสูงที่สุดก็จะได้เงินก้อนในงวดนั้นไปก่อน

คนที่เปียแชร์ได้ไปก่อนหลังจากนั้นก็จะเหมือนกับเป็นหนี้ ต้องจ่ายเงินคืนให้กับวงแชร์เท่ากับยอดเงินที่เราเขียนลงไปในกระดาษ เช่น หากเปียแชร์ได้ที่ 1,100 บาท งวดต่อมาอีก 11 งวดเราก็จะต้องจ่ายเงินคืนงวดละ 1,100 บาท ส่วนคนที่ไม่ได้เปียแชร์แต่ส่งเงินทุกงวด ๆ ละ 1,000 บาท เมื่อได้คืนก็จะได้มากกว่า 1,000 บาท ส่วนเกินก็ถือเป็นดอกเบี้ยที่ได้


ข้อดีของการเล่นแชร์ก็คือเป็นช่องทางทำให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อไปใช้จ่ายในธุรกิจได้ การเล่นแชร์นี้มีกฎหมายรองรับว่าสามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยมีข้อยกเว้นอยู่ว่าไม่ให้นายวงแชร์เปิดวงแชร์เกินกว่า 3 วง สมาชิกของแต่ละวงแชร์จะต้องไม่เกินกว่า 30 คน นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนดในทุนของเงินกองกลางต่อหนึ่งงวดด้วยว่าต้องไม่เกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง


ส่วนแชร์ลูกโซ่นั้นก็มีมานานแล้วเช่นกัน เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาแชร์ลูกโซ่มีรูปแบบที่ไม่ได้ซับซ้อนอย่างเช่นในปัจจุบัน มีลักษณะใกล้เคียงกับการเล่นแชร์แบบปกติ เพียงแต่มีวงผู้เล่นจำนวนมาก มูลค่าของวงเงินในแต่ละงวดก็สูงมากเช่นเดียวกัน แต่การล้มละลายเป็นข่าวใหญ่โตของแชร์ลูกโซ่ในสมัยนั้น อย่างเช่น แชร์แม่ชม้อย หรือบริษัท กรีนแพลนเนท ก็ทำให้ประชาชนทั่วไปเริ่มขยาดกับแชร์ลูกโซ่ตั้งแต่บัดนั้น


แชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากการเล่นแชร์ปกติ จุดประสงค์ก็เพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในผลตอบแทนที่จะได้รับว่ามีที่มาที่ไปเป็นการดำเนินธุรกิจจริง ๆ แชร์ลูกโซ่โดยมากมักมีการโฆษณาในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับว่ามากกว่าการฝากเงินธนาคารหรือการลงทุนในแบบอื่น ๆ ทำให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประชาชนทั่วไปที่ต้องการผลตอบแทนตรงนี้ได้ ยิ่งช่วงเศรษฐกิจขาลงการทำมาหากินฝืดเคืองเราจะเห็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมากันเยอะเลย


แชร์ลูกโซ่มักแฝงตัวมากับธุรกิจ 2 รูปแบบด้วยกัน ก็คือ ธุรกิจขายตรง และธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ทุกธุรกิจขายตรงหรือซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์จะเป็นแชร์ลูกโซ่ มีเพียงบางธุรกิจเท่านั้นที่แฝงเรื่องแชร์ลูกโซ่เข้ามาโดยใช้ 2 ธุรกิจนี้บังหน้า ที่แชร์ลูกโซ่สามารถอยู่ได้และไม่หมดไปจากโลกนี้เสียทีก็เพราะความต้องการได้ผลตอบแทนมาก ๆ ของประชาชนอย่างเรานี่แหละจึงทำให้ถูกหลอกได้ง่าย เรียกได้ว่าธุรกิจประเภทนี้อยู่ได้ก็เพราะอาศัยความโลภของคนเรานี่เอง


สำหรับธุรกิจอะไรก็ตามที่มีแชร์ลูกโซ่แอบแฝงอยู่จะมีข้อสังเกต คือ มักจะไม่เน้นที่ตัวสินค้าที่จะขาย แต่จะเน้นในเรื่องของการหาสมาชิกมาเพิ่มหรือต่อยอดไปเรื่อย ๆ และมักต้องมีการจ่ายค่าสมาชิกในราคาสูงหรือหากไม่มีค่าสมาชิก ก็ต้องมีการจ่ายเงินลงทุนเริ่มแรกเป็นเงินก้อนใหญ่ก็มีผลตอบแทนให้ค่อนข้างสูง บางธุรกิจก็มีการจัดให้ผู้เข้าร่วมฟังสัมมนา ดูมีแผนงานสร้างความน่าเชื่อถือ โดยเลือกจัดสัมมนาที่โรงแรมหรือสถานที่หรูหราให้เหยื่อลงเชื่อว่าบริษัทมีความมั่นคง ผลตอบแทนสูงที่ได้มักจะขึ้นอยู่กับการหาสมาชิกมาเพิ่มให้ได้

รวมถึงจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นด้วย ผลตอบแทนที่ธุรกิจนี้จ่ายให้กับสมาชิกเก่าก็มาจากเม็ดเงินลงทุนหรือค่าสมาชิกของสมาชิกใหม่นั่นเอง ไม่ได้เกิดจากการนำเงินไปลงทุนสร้างผลกำไรอย่างที่โฆษณาเอาไว้ บางธุรกิจก็หลอกให้ตายใจด้วยการให้ผลตอบแทนในช่วงแรก อาจเป็นแค่ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นพอได้เงินจำนวนมากพอที่ต้องการแล้วแล้วก็ปิดบริษัทหรือหนีหายไปเลย


อีกรูปแบบของกลโกงแชร์ลูกโซ่ ก็คือ ใช้การซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์บังหน้า สินค้าที่เลือกมักเป็นสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีวางขายหรือเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการเป็นที่นิยม ธุรกิจเหล่านี้จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินเป็นค่ามัดจำให้ก่อนหรือบางรายก็ให้จ่ายเงินเต็มจำนวนเลยก็มี เพื่อให้เหยื่อตายใจการสั่งสินค้าในล็อตแรก ๆ ก็จะมีการส่งสินค้าให้ตามคำสั่งดูแล้วไม่มีปัญหา เมื่อเหยื่อหลงเชื่อมีการสั่งในครั้งต่อ ๆ ไป ทั้งยังมีการชวนเพื่อนมาซื้อเพิ่มด้วย พอยอดการสั่งซื้อในล็อตหลัง ๆ มีจำนวนมากขึ้น คราวนี้ธุรกิจปิดตัวหนีหายไปเลยพร้อมกับเงินมัดจำหรือเงินจ่ายล่วงหน้า คราวนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปตามเงินคืนจากใคร


เป็นข่าวมาตลอดในระยะเวลาหลายต่อหลายปี เรื่องแชร์ลูกโซ่นี้ แต่เดี๋ยวก็มีมาอีกเป็นรูปแบบเดิม ๆ บ้าง เป็นรูปแบบใหม่ ๆ บ้าง ก็ยังมีเหยื่อหน้าใหม่มาหลงเชื่อให้หลอกกันอยู่เรื่อย ๆ ต้องระวัง เพราะมีคนมากมายที่ต้องสูญเสียเงินเก็บมาทั้งชีวิตมูลค่าเป็นล้านบาทไปกับกลโกงของคนพวกนี้

สำหรับวิธีที่จะสังเกตเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ก็คือ ดูที่ผลตอบแทนที่จะได้หากดูแล้วมากเกินไปจนผิดสังเกตก็ต้องสงสัยไว้ก่อน อย่าโลภมองแต่ผลตอบแทนจนลืมมองความเป็นไปได้หรือที่มาที่ไปของธุรกิจนั้นให้ดีเสียก่อน และไม่ควรหลงเชื่อหรือเกรงใจกับคนที่มาชักชวนเรา ต่อให้เป็นเพื่อนหรือญาติสนิทก็ตาม หากไม่มั่นใจต้องปฏิเสธไปก่อนเลย ยิ่งธุรกิจที่มาเร่งให้เราต้องรีบตัดสินใจในเวลาสั้น ๆ นี่ต้องอย่าไปหลงเชื่อและรีบตัดสินใจ โดยที่ยังไม่ได้ปรึกษาใครหรือศึกษาธุรกิจให้ดีก่อน เสียโอกาสไปบ้างก็ยังดีกว่าเสียเงินเสียทองจนหมดตัว


สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่ง ก็คือ เราต้องเปิดหูเปิดตารับฟังข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวสารในเรื่องของกลโกงแชร์ลูกโซ่นี้มีต่อเนื่องมาตลอด รูปแบบก็หลากหลายต้องติดตามเพื่อให้เป็นความรู้ไว้จะได้ไม่ถูกหลอกง่าย ๆ หากไม่มั่นในธุรกิจที่จะลงทุน เราสามารถสอบถามข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. เพื่อให้ช่วยตรวจสอบความเป็นมาของธุรกิจว่าเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่กันไว้ดีกว่าแก้


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.1213.or.th/th/finfrauds/LoanShark/Pages/LoanShark.aspx

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook