การขอเงินคืน ประกันชีวิต ต้องทำอย่างไร
การขอเงินคืนประกัน คุณสามารถทำได้แต่คุณจะต้องชำระเบี้ยประกันไปแล้ว อย่างน้อย 2 ปี ขึ้นไป ถึงสามารถยกเลิกและเรียกร้องขอเงินคืนได้ หากคุณต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ในปีแรกของการชำระเบี้ยประกัน คุณจะไม่ได้รับเงินคืน เพราะว่าในปีแรกทางบริษัทประกัน มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อย่างเช่น ค่าออกกรมธรรม์ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบำเหน็จตัวแทนประกันชีวิต จากค่าใช้จ่ายที่สูงนี้ จึงทำให้ไม่มีเงินคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยนั่นเอง
แต่คำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัย ก็คือ เมื่อคุณชำระเบี้ยประกันไปแล้วจะขอเงินคืนอย่างไร จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด วันนี้เรามีวิธีในการขอเงินคืนประกัน ให้คุณได้รับผลประโยชน์สูงสุด การของเงินคืน ประกันนั้น คุณสามารถเลือกวิธีการขอเงินคืนได้ 3 วิธี ได้แก่ การเวนคืนเงินสด, การใช้เงินสำเร็จ และการขยายเวลา การขอเงินคืนแต่ละวิธีจะให้ผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน คุณสามารถคำนวณและหากความแตกต่าง ซึ่งวิธีไหนที่เหมาะกับคุณและให้ผลตอบแทนที่มากที่สุด รายละเอียดและวิธีการคำนวณตามนี้เลยค่ะ
การขอเงินคืน และการคำนวณ
การเวนคืนเงินสด
หากคุณชำระเบี้ยประกันภัยมาจนถึงเวลาที่มีเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และกรมธรรม์ยังมีผลบังคับผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้ โดยการขอเวนคืนกรมธรรม์ และรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์ กับผลประโยชน์อื่น ๆ อันพึงจะได้รับ (ถ้ามี) หักด้วยจำนวนหนี้สินใด ๆ ที่ค้างชำระอยู่ (ถ้ามี)
วิธีนี้ ผู้ทำประกัน ปิดกรมธรรม์ ไม่ส่งเบี้ยประกันแล้ว สัญญาคุ้มครองต่าง ๆ ก็สิ้นสุดลง เงินสดที่ได้รับคืน จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ส่งเบี้ยประกัน
วิธีคิดจำนวนเงินที่รับคืน : ทุนประกัน คูณด้วยมูลค่าเวนคืนเงินสด หารด้วย 1,000
วิธีใช้เงินสำเร็จ
หากคุณชำระเบี้ยประกันมาจนถึงเวลาที่มีเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และกรมธรรม์ยังมีผลบังคับผู้เอาประกันภัยมีสิทธิจะขอเปลี่ยนกรมธรรม์นั้น เป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ โดยผู้เอาประกันภัยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันต่อไป การเปลี่ยนกรมธรรม์ บริษัทจะนำเงินค่าเวนคืนที่มีอยู่ในขณะนั้น มาคำนวณเป็นเบี้ยชำระครั้งเดียว เพื่อซื้อกรมธรรม์ใหม่เป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ซึ่งจะมีระยะเวลาเอาประกันภัยเป็นไปตามระยะเวลาประกันภัยเดิม แต่จำนวนเงินเอาประกันภัยเท่ากับจำนวนเอาประกันภัย ซึ่งได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ บริเวณช่องมูลค่าเงินสำเร็จ
ทางบริษัทจะจ่ายเงินจำนวนนี้ ให้ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนวันครบกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัย หรือเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาเอาประกันภัย และหากมีเงินเหลือทางบริษัทจะจ่ายเงินคืนทันที ตามที่ได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ บริษัทจะจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้เอาประกันภัย ณ เวลาที่ผู้เอาประกันภัยขอเปลี่ยนกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
วิธีนี้ ผู้ทำประกัน หยุดส่งเบี้ยประกัน ความคุ้มครองเกิด จะมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตระหว่างอายุกรมธรรม์ที่เหลือ จะได้รับเงิน ตามตารางที่กำหนดไว้ ยิ่งนานก็ยิ่งได้รับคืนมากขึ้น
วิธีคิดจำนวนเงินที่รับคืน : ทุนประกัน คูณด้วยมูลค่าใช้เงินสำเร็จ หารด้วย 1,000
วิธีขยายเวลา
หากคุณชำระเบี้ยประกันภัยมาจนถึงเวลาที่มีเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และกรมธรรม์ยังมีผลบังคับผู้เอาประกันภัยมีสิทธิจะขอแปลงกรมธรรม์ เป็นการประกันภัยแบบขยายเวลา เว้นแต่กรมธรรม์ที่เป็นประกันภัยต่ำกว่ามาตรฐาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด จำนวนเงินเอาประกันจะคงเดิม ตามกรมธรรม์เดิม
โดยผู้เอาประกันภัยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยต่อ การแปลงกรมธรรม์บริษัทจะนำเงินเวนคืนทั้งหมดในขณะนั้น มาคำนวณเป็นเบี้ยประกันภัยชำระครั้งเดียว เพื่อซื้อกรมธรรม์ใหม่เป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลา ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลา ซึ่งได้ระบุไว้ในช่องระยะเวลาที่ขยายตามตารางกรมธรรม์ บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ หากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนพ้นกำหนด ระยะเวลาที่ขยายกรมธรรม์เป็นอันสิ้นสุดผลบังคับ โดยไม่มีการจ่ายเงินผลประโยชน์ใดๆ
วิธีนี้ ผู้ทำประกัน หยุดส่งเบี้ยประกัน ได้ประโยชน์สูงสุดในด้านการคุ้มครอง
วิธีที่ 1 หากเสียชีวิต ในช่วงขยายเวลา จ่ายตามทุนประกันเดิม มีชีวิตอยู่ครบช่วงขยายเวลา ไม่ได้รับอะไร
วิธีที่ 2 หากเสียชีวิตอยู่ในช่วงขยายเวลา ได้รับเงินสะสมเมื่อครบสัญญา มีชีวิตอยู่ครบช่วงขยายเวลา ได้รับเงินสะสมเมื่อครบสัญญา
วิธีคิดจำนวนเงินที่รับคืน : ทุนประกัน คูณด้วยมูลค่าเงินสะสม หารด้วย 1,000
ในส่วนของผู้รับผลประโยชน์ สามี ภรรยา (ทำให้กันได้ทั้งสองฝ่าย) ,บิดา มารดา กับ บุตร (ทำให้กันได้ทั้งสองฝ่าย)
บุคคลที่ทำสัญญา ต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์) โดยการสมรสเมื่อมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ ผู้เยาว์ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง
ข้อยกเว้นที่บริษัทประกัน (ไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์)
1. ฆ่าตัวตายภายใน 1 ปีหลังจากทำประกัน
2. ถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตาย
3. สัญญาเป็นโมฆียะ
ผลประโยชน์อื่นๆ (จากการทำประกันชีวิต)
1. สามารถนำไป หักลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 50,000 บาท (ต้องตรวจดูให้ละเอียดว่า อายุกรมกรมธรรม์ต้อง 10 ปีขึ้นไปเบี้ยประกันที่ส่งตลอดปีภาษี จึงจะนำไปหักลดหย่อนได้)
2. นำกรมธรรม์ ไปใช้ค้ำประกันการกู้เงิน
3. นำกรมธรรม์ ไปใช้ประกันผู้ต้องหาได้
หากคุณยังสงสัยว่า มีตั้ง 3 วิธี แล้วคุณจะเลือกวิธีไหนดี เพื่อให้คุณสามารถเปรียบเทียบได้ว่าวิธีไหนที่เหมาะสำหรับคุณ เราขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้คุณเห็นถึงจำนวนเงิน คุณอาจจะสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น
ตัวอย่างการคำนวณ ถ้าคุณอายุ 20 ปี ซื้อประกันแบบ สะสมทรัพย์ไว้ 10 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ย 10 ปี เอาเงินทุนประกันชีวิต 100,000 บาท เมื่อสิ้นปีที่ 2 คุณเกิดตกงานจะทำอย่างไรดี ก่อนอื่นคุณต้องไปเปิดตาราง หลังกรมธรรม์ เพื่อดูมูลค่ากรมธรรม์ แบบต่าง ๆ มาคำนวณเปรียบเทียบกัน
วิธีที่ 1 การเวนคืนเงินสดและใช้เงินสำเร็จ ในปีที่ 2 มูลค่าคืนเงินสด แบบนี้อยู่ที่ 55.96 บาท มูลค่าเงินสำเร็จ 85.53 บาท และมูลค่าขยายเวลาเท่ากับ 8 ปี และมีเงินคงเหลือ 63.34 บาท
สำหรับการขอเวนคืนเงินสด เงินที่จะได้รับเท่ากับ 55.96 คูณ 100,000 หาร 1,000 บาท เท่ากับ 5,596 บาท
ในส่วนของเงินสำเร็จ เงินที่คุณจะได้รับเท่ากับ 85.53 คูณ 100,000 หาร 1,000 บาท เท่ากับ 8,553 บาท
สำหรับในการขยายเวลา ถ้าคุณเสียชีวิตภายใน 8 ปี ผู้รับผลประโยชน์ของคุณจะได้รับเงินไปเต็ม ๆ 100,000 บาท แต่ถ้าคุณมีชีวิตอยู่จนถึงระยะเวลาครบสัญญา 10 ปี เงินที่คุณจะได้รับจะเท่ากับ 63.34 คูณ 100,000 บาท หารด้วย 1,000 บาทคุณจะได้รับเงินเท่ากับ 6,334 บาท
จากการคำนวณข้างต้นเราขอเปรียบเทียบในตารางนี้
ตามสถิติ ในสหรัฐอเมริกา ผู้เอาประกันภัยที่เลือกใช้มูลค่าใช้เงินสำเร็จมักเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีอายุยืน จนครบกำหนดสัญญา ซึ่งจะได้เงินเอาประกันตามจำนวนที่ลดลง
ในส่วนผู้เอาประกันที่เลือกแบบขยายเวลา ส่วนมากเป็นผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี และมักเสียชีวิตลง ภายในระยะเวลาที่ขยายออกไป ซึ่งผู้รับประโยชน์จะได้รับจำนวนเอาประกัน ครบถ้วนตามสัญญาที่ทำไว้แต่ต้น
ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณแล้วว่า ต้องการแบบไหน เพราะคุณเท่านั้นที่รู้ดีกว่าใคร เราเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำ และนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ไม่ได้ชี้นำ ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลจริงที่เรานำมาจากตารางกรมธรรม์ คุณสามารถนำวิธีการคำนวณไปใช้เพื่อหามูลค่ากรมธรรม์แบบต่าง ๆ ของคุณได้เลยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : http://tahitech.com/LifeInsureBenefit.htm
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub