มีเงินก้อน เลือกโปะบ้านหรือรถก่อนดี

มีเงินก้อน เลือกโปะบ้านหรือรถก่อนดี

มีเงินก้อน เลือกโปะบ้านหรือรถก่อนดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคำถามว่าเมื่อมีเงินก้อนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเงินรายได้พิเศษ เงินโบนัสหรือเงินมรดก หากเรามีหนี้บ้านและหนี้รถอยู่ เราควรจะนำเงินนั้นไปโปะหนี้บ้านหรือหนี้รถก่อนดี ก่อนที่จะตอบคำถามเรื่องเงินก้อนว่าโปะหนี้บ้านหรือรถก่อนดีนั้น เรามาทำความเข้าใจเรื่องการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านกับสินเชื่อรถยนต์กันก่อนดีกว่าค่ะ


สินเชื่อบ้าน การคิดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านนั้นจะเป็นการคิดเป็นแบบลดต้นลดดอก การผ่อนจ่ายรายเดือนจะเป็นงวดตามจำนวนเงินที่ทำสัญญากู้บ้านไว้กับธนาคาร ซึ่งจำนวนเงินต่องวดที่จะต้องจ่ายจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย เงินต้นและระยะเวลาที่ผ่อนชำระ หากอัตราดอกเบี้ยสูง เงินต้นและระยะเวลาผ่อนชำระเท่ากัน เงินค่างวดที่ต้องจ่ายจะมาก หรือหากระยะเวลาที่ผ่อนชำระนาน เงินต้นและอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน การผ่อนยาวกว่าจะทำให้ค่างวดที่ต้องจ่ายรายเดือนน้อยกว่า


ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยลดต้นลดดอกนั้น หมายถึง ดอกเบี้ยในแต่ละงวดจะคิดจากเงินต้นที่ค้างอยู่ ตอนต้นงวดหมายความว่าหากเรามีเงินก้อนเลือกโปะบ้าน เงินก้อนนั้นจะไปลดเงินต้นที่ค้างอยู่จะมีผลทำให้ดอกเบี้ยโดยรวมตลอดอายุสัญญานั้นลดลง นั่นหมายถึงระยะเวลาในการผ่อนชำระก็จะลดลงด้วย


ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ สมมติว่าเรามีเงินกู้บ้านอยู่ 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี ผ่อน 30 ปี เงินค่างวดที่ต้องจ่ายรายเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท หากเราได้รับโบนัสมาเป็นเงิน 100,000 บาทและต้องการที่จะนำมาโปะบ้านหลังจากผ่อนไปครบ 1 ปี ดอกเบี้ยตลอดสัญญาจะลดลงกว่า 4 แสนบาท และการผ่อนบ้านของเราจะหมดเร็วขึ้นประมาณ 2 ปีครึ่ง หากทุกปีเมื่อได้รับโบนัสแล้วเราทำแบบนี้ก็เชื่อได้เลยว่าดอกเบี้ยโดยรวมที่ต้องจ่ายจะลดลงมากและระยะเวลาที่ต้องผ่อนชำระก็จะสั้นลงมากทีเดียว


สินเชื่อรถยนต์ การคิดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อรถยนต์นั้นจะไม่ได้คิดแบบลดต้นลดดอก จะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่คิดจากเงินต้นและระยะเวลาในการผ่อนชำระ โดยคำนวณดอกเบี้ยแล้วนำมารวมกับเงินต้นแล้วจึงหารเฉลี่ยด้วยจำนวนเดือนที่เราจะผ่อนจ่ายคืนก็จะได้ค่างวดรถที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ตารางการจ่ายชำระค่างวดสำหรับรถยนต์จึงเป็นสิ่งตายตัว หากเรามีเงินก้อนและนำไปโปะคืนรถยนต์ เงินก้อนนั้นก็ไม่ได้ไปลดเงินต้น แต่เหมือนเป็นการจ่ายค่างวดล่วงหน้า ก็ไม่ได้มีผลทำให้ดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาลดลงแต่อย่างใด เราก็ยังต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่เงินก้อนที่เราโปะเข้าไปจะไปมีผลตอนท้ายของสัญญา โดยจะนำไปหักออกจากค่างวดสุดท้ายไล่ขึ้นมา


ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย สมมติผ่อนรถยนต์ราคา 1 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 3% ผ่อน 5 ปี เงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท หากเราใช้เงินก้อนจากโบนัส 100,000 บาทมาโปะรถ ก็ไม่ได้ทำให้ดอกเบี้ยลดลง ตารางการผ่อนรถก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม เงิน 100,000 บาทนี้จะถูกนำไปหักออกจากค่างวดตอนสุดท้าย ซึ่งก็คือ 20,000 X 5 = 100,000 บาท เราจะผ่อนรถหมดเร็วขึ้น 5 งวดจากเงิน 100,000 บาทนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการค่อย ๆ ผ่อนไปเรื่อย ๆ จนครบ 60 งวดอยู่ดี


จากตัวอย่างของการโปะสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถเราจะเห็นเลยว่าการเลือกโปะบ้านนั้นดีกว่ามาก เพราะเงินที่เราโปะจะไปลดเงินต้นซึ่งมีผลทำให้ลดดอกเบี้ยในอนาคตลงได้ เพราะเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก ในขณะที่หากเลือกโปะรถก็จะไม่มีผลอะไรกับดอกเบี้ย แต่บริษัทไฟแนนซ์จะนำเงินก้อนนี้ไปหักค่างวดสุดท้ายออกไปแค่นั้นเอง เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโปะตั้งแต่ตอนนี้ เอาเงินก้อนนี้ไปทำอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนในอีก 4 ปีข้างหน้ายังจะดีกว่า ดังนั้นนี่ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า หากมีเงินก้อนเราควรจะเลือกโปะบ้านหรือรถดี เราควรเลือกโปะบ้านค่ะ


มีคำถามต่อมาว่าหากเราไม่มีเงินกู้บ้าน มีแต่เงินกู้รถ เวลามีเงินก้อนเราควรทำอย่างไร ต้องขอบอกว่าการผ่อนรถยนต์เราเลือกโปะเงินเป็นบางส่วนจะช่วยอะไรไม่ได้อย่างที่ว่ามาค่ะ ยกเว้นกรณีเดียวคือเงินก้อนนั้นเพียงพอที่จะปิดหนี้ของรถได้เลย คือจ่ายแล้วจบเลยแบบนี้ถึงควรทำ เพราะบริษัทไฟแนนซ์มักมีข้อเสนอที่ดีเป็นส่วนลดดอกเบี้ยให้ในกรณีที่ลูกค้ามีเงินก้อนและเลือกที่จะปิดบัญชีไปเลย แต่อย่างไรเราก็ต้องเสียดอกเบี้ยบางส่วนอยู่ดี เพราะเขาลดให้แค่ส่วนเดียวเท่านั้น อันนี้ก็อยู่ที่แต่ละคนจะตัดสินใจค่ะ

บางคนก็อยากปิดหนี้รถไปเลยจะได้จบไป ง่ายต่อการบริหารจัดการชีวิตที่เหลือจะได้หมดหนี้ เริ่มเก็บเงินออมได้เสียที ส่วนบางคนคิดว่าผ่อนรถต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนเงินก้อนนี้เลือกที่จะนำไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน ซึ่งหากได้ผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสำหรับการผ่อนรถก็จะถือว่าคุ้มค่าค่ะ


ยกเว้นอย่างเดียวที่ไม่ควรทำก็คือไม่นำเงินก้อนไปปิดบัญชีรถ แถมเงินก้อนนั้นยังไม่ได้นำไปลงทุนแต่หมดไปกับอะไรก็ไม่ทราบ ถ้าเป็นแบบนี้ยอมเอาเงินไปปิดหนี้รถดีกว่าค่ะ

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook