ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค

ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค

ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลยกฟ้องคดีธนาคารฟ้องผู้บริโภค ไม่ชำระค่าบัตรเครดิต เหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะอย่ายอมจ่ายหนี้บัตรฯ หากขอยกเลิกสัญญาในเวลากำหนด


กรณีที่มีผู้บริโภคถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดี จากการค้างชำระค่าบัตรเครดิต หลังจากรูดซื้อบริการคอร์สเสริมความงาม และภายหลังได้ทำเรื่องขอยกเลิกการใช้บริการคอร์สเสริมความงามแล้วนั้น


นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ กรณีใช้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามจากสถานเสริมความ ซึ่งเป็นคอร์สทำหน้าจำนวน ๑๐ ครั้ง ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาทโดยผู้ร้องได้ทดลองทำหน้า ๑ ครั้ง และครั้งแรกเป็นการทดลองทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ทำก็เกิดอาการแพ้ คันที่ใบหน้าและรอบดวงตา หลังจากนั้นก็ไปรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ต่อมาจึงได้แจ้งสถานเสริมความงามเพื่อขอยกเลิกสัญญาในการใช้บริการ และแจ้งธนาคารฯ ให้ระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต


นางนฤมล เล่าต่อไปว่า ต่อมาทางธนาคารฯ ยื่นเรื่องฟ้องผู้บริโภครายนี้ต่อศาล จากการค้างชำระค่าบริการคอร์สเสริมความงาม ทั้งที่ผู้บริโภคส่งเรื่องไปให้ธนาคารฯ ระงับการจ่ายเงินแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ศาลพิพากษาว่า ธนาคารฯ กระทำโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงให้ผู้ร้องไม่ต้องชำระค่าบริการของสถานเสริมความงาม และให้ยกฟ้อง


“ผู้บริโภคมักถูกฟ้องคดี เวลาเอาบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วผู้ประกอบการผิดสัญญา พอบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ก็ไม่ได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ หรือแจ้งไปแล้วก็ไม่ดำเนินการให้ ทั้งที่ธนาคารฯ ควรจัดการปัญหานี้ให้กับผู้บริโภคด้วย” นางนฤมล กล่าวและว่า การที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าผู้บริโภคต้องยินยอมใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ถ้าผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้า หรือบริการเป็นไปตามที่ตกลงไว้ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ภายใน ๓๐ - ๔๕ วันแล้วแต่กรณี


หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำต่อไปว่า เมื่อเลิกสัญญากับผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตระงับการจ่ายเงินให้กับคู่กรณีด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีการฟ้องคดีเกิดขึ้น


“อย่างกรณีนี้ ผู้บริโภคใช้บริการแล้วแพ้ ใช้บริการไม่ได้ หรือใช้บริการแล้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ สามารถยกเลิกสัญญาได้ตามสิทธิของผู้บริโภค และเมื่อผู้ร้องได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ แล้ว แต่ธนาคารฯ ยังจ่ายค่าบริการให้สถานเสริมความงามไป ทั้งที่ยกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้น ธนาคารฯ จะมาเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคไม่ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าว


ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า หรือรับบริการภายในระยะเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันถึงกำหนดมอบสินค้า หรือบริการ ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนด ไม่ครบถ้วน ชำรุดบกพร่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook