เป็นไปได้ไหมที่จะ “ออมเงิน” ในขณะที่มีหนี้อยู่ ?
ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันจะว่าไปแล้วถ้าอยากจะไม่มีหนี้บางทีก็ทำได้ยาก เพราะหากรอเพื่อให้เก็บเงินได้ก่อนแล้วค่อยซื้อบ้านหรือซื้อรถ บางทีก็ไม่แน่ใจว่าชีวิตนี้จะมีบ้านหรือรถกับเขาได้บ้างหรือเปล่า อย่างไรการก่อหนี้ของเราควรเป็นสิ่งจำเป็นและที่สำคัญต้องอยู่บนพื้นฐานของความมั่นใจว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้
มีหลายคนสงสัยว่าเมื่อจำเป็นต้องมีหนี้แบบนี้ เราจะสามารถออมเงินไปด้วยได้อย่างไร ที่จริงเรื่องการบริหารหนี้หรือการออมเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนจัดการเงินส่วนบุคคล ไม่จำเป็นเสมอไปที่คนมีหนี้จะไม่สามารถมีเงินออมได้ นั่นก็เป็นเพราะเราต้องวางแผนจัดสรรเงินรายได้ของเราและครอบครัวออกเป็นส่วน ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่ต่างกันไป เช่น ส่วนหนึ่งนำไปชำระหนี้ ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเงินเพื่อเกษียณ ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเงินค่าเล่าเรียนลูก ฯลฯ ซึ่งเงินส่วนที่จะต้องเก็บเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนลูก เงินเกษียณหรือเป็นเงินที่เราจำเป็นต้องใช้ในอนาคตก็เป็นเงินส่วนที่เราจำเป็นจำต้องออมด้วย
หนี้หลายประเภทที่เป็นหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะหนี้บ้านต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนคืนนานมาก บางทีหลายสิบปี 30 ปี ก็มีให้เห็น หากภายใน 30 ปี นั้น รายได้ของเราที่เหลือจากค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์เรานำมาชำระหนี้บ้านจนหมด แทบไม่มีเหลือเป็นเงินออมเผื่อไว้ใช้ในเรื่องอื่น ๆ เลย เมื่อถึงเวลาต้องใช้เงินขึ้นมาเราก็ไม่มีเงินออมเหลือไว้ให้ใช้ได้เลย จริงอยู่ที่ใครเป็นหนี้ก็อยากจะใช้หนี้ให้หมดไว ๆ เพื่อที่จะได้ปลอดโปร่งโล่งสบาย แต่ชีวิตเรายังอาจจะมีเรื่องอื่น ๆ ให้เราต้องวางแผนใช้จ่ายเรื่องเงินด้วยเช่นกัน
การเลือกออมเงินในขณะที่ยังมีหนี้อยู่ด้วย จึงไม่ใช่ความคิดที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะเงินออมนั้นจะถือเป็นเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดในกรณีที่เราจำเป็นต้องใช้เงินในอนาคต อีกทั้งหากรูปแบบการออมเงินของเรานั้นเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่าดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายหนี้ระยะยาวอย่างหนี้บ้าน ก็ถือว่ายิ่งคุ้มค่าที่จะเลือกเก็บเงินบางส่วนมาออมหรือลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับเราในอนาคต
ยกตัวอย่างคนที่ทำงานบริษัทมีเงินเดือนประจำ มีรายได้ที่แน่นอน หากผ่อนบ้านเขาอาจไม่จำเป็นต้องเลือกผ่อนเต็มที่สูงสุดตามกำลังความสามารถของเขาก็ได้ แต่เลือกที่จะผ่อนต่อเดือนแบบสบาย ๆ แต่ผ่อนนานหน่อย ให้ตัวเองมีทางเลือกในการวางแผนจัดสรรเงินเพื่อใช้ออมหรือลงทุนด้วย นอกจากเป็นการเผื่อเหลือเผื่อขาดแล้ว ยังถือเป็นการสร้างโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในการลงทุนที่มากกว่าด้วย เขาอาจเลือกนำเงินบางส่วนไปลงทุนในกองทุนหุ้นอย่าง LTF หรือ เลือกลงทุนในกองทุน RMF เพื่อมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ แถมเงินลงทุนทั้ง 2 ส่วนนี้ยังนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีนั้นได้อีก ทำให้เราได้เครดิตภาษีคืนและสามารถนำเงินนั้นไปออมหรือลงทุนเพิ่ม หรือหากอยากจะนำไปโปะหนี้บ้าน ก็ทำได้เช่นเดียวกัน
สำหรับหนี้ระยะยาวเช่นหนี้บ้านนี้ หากเลือกโปรแกรมผ่อนน้อยผ่อนนานทำให้เรามีความคล่องตัวมากกว่า เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีเงินมากกว่าค่างวดที่ผ่อน เราสามารถที่จะจ่ายเกินค่างวดได้ เงินส่วนเกินก็จะไปลดเงินต้น ทำให้ดอกเบี้ยที่เราจะต้องจ่ายในอนาคตนั้นลดลงและเวลาที่เราจะต้องผ่อนตามกำหนดสัญญาก็สั้นลงด้วย แต่หากเราเลือกที่จะผ่อนสูงสุดและให้สั้นที่สุด หากเรามีปัญหาขึ้นมาในอนาคตก็ยากกว่าจะอยากจะผ่อนให้น้อยลง อีกข้อก็คือดอกเบี้ยในการผ่อนบ้านถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เพราะมีบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่โอกาสในการที่เราจะนำเงินไปออมหรือลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยบ้านนั้นก็มีโอกาสสูงอยู่เช่นกัน
หนี้ผ่อนรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน หากเราเลือกผ่อนรถ 5 ปี มีตารางของการผ่อนค่างวดรถที่แน่นอนแล้ว เราก็ผ่อนไปตามนั้น หากหลังจากนั้นเราทำงานมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีโบนัส เราก็สามารถนำเงินส่วนนั้นมาเก็บออมหรือลงทุนเพิ่มได้ เพราะต่อให้เรานำเงินก้อนหรือจ่ายค่างวดเพิ่มสำหรับหนี้ผ่อนรถยนต์ก็ไม่ได้ทำให้หนี้ในอนาคตของเราลดลงแต่อย่างใด เพราะการคิดดอกเบี้ยสำหรับหนี้รถยนต์เป็นแบบไม่ได้ลดต้นลดดอก เป็นดอกเบี้ยที่คิดตั้งแต่แรกแล้วนำมารวมกับเงินต้นคิดเฉลี่ยตามงวดที่เราเลือกผ่อนชำระคืน
แต่หากหนี้ที่เรามีอยู่นั้นเป็นหนี้ระยะสั้นและอัตราดอกเบี้ยสูงมาก เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้เงินกู้ส่วนบุคคลหรือหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปีละ 20-28% ขึ้นไป เราก็อย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องการออมเงินหรือลงทุนเลย ให้เราพยายามนำเงินรายได้ไปใช้หนี้ก้อนนั้นคืนให้เร็วที่สุดก่อนจะดีกว่า เพราะโอกาสในการออมเงินหรือลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงนั้นก็น้อยมากหรือเรียกว่าแทบจะไม่มีโอกาสเลย หากมีปัญหาไม่สามารถใช้หนี้ได้ ดอกเบี้ยจะเกิดการทบกับเงินต้น แม้เรามีเงินออมหรือเงินลงทุน ถึงเวลานั้นก็ต้องถอนหรือขายเงินลงทุนนำมาจ่ายหนี้อยู่ดี ไม่คุ้มกันหรอก พยายามให้หนี้ก้อนนั้นให้หมดเร็วที่สุด แล้วหลังจากนั้นเมื่อปลอดหนี้แล้ว เราค่อยกลับมาคิดถึงเรื่องของการออมเงินหรือลงทุนก็ยังไม่สาย
หากอยากมีเงินออมหรือเงินลงทุนในขณะที่เรายังมีหนี้อยู่ให้หันกลับไปมองหนี้ของเราก่อน ว่าหนี้ของเรามีดอกเบี้ยสูงและเป็นหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาว รวมถึงรายได้ของเราด้วยว่าภาระหนี้สินของเราเทียบกับรายได้แล้วเป็นอย่างไร หากภาระหนี้นั้นไม่ได้มากก็สามารถเลือกจัดสรรออมเงินได้ แต่ถ้าภาระหนี้ของเรามากเมื่อเทียบกับรายได้ เช่น ภาระหนี้เกินกว่า 60% ก็ให้เราพิจารณาชำระหนี้คืนก่อนให้ภาระหนี้เหลือไม่เกิน 40% หรือน้อยกว่านั้นแล้วจึงค่อยตัดสินใจเรื่องออมเงินกันอีกครั้ง อีกวิธีที่จะทำให้เรามีเงินออมในขณะที่เรายังมีหนี้อยู่ ก็คือ การหารายได้เพิ่ม เพราะการหารายได้เพิ่มก็จะทำให้ภาระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ของเรานั้นน้อยลง ก็คือ เรามีเงินเหลือพอที่จะนำไปเก็บออมนั่นเอง
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub