ดูให้ชัด !สรรพากร ฟันธง เซอร์วิสชาร์จ เป็นรายได้ของร้าน
เปิดคำวินิจฉัยกรมสรรพากร ค่าเซอร์วิสชาร์จ แท้จริงเป็นรายได้ของผู้ประกอบการ ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี เจ้าของกิจการจะอ้างเป็นเงินเก็บจากผู้ใช้บริการเพื่อให้พนักงานโดยตรง และไม่ถือเป็นส่วนของผู้ประกอบการไม่ได้
หลังมีกระแสบนโลกโซเชียล ประเด็นค่าเซอร์วิสชาร์จ ผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้หรือไม่ ลูกค้าปฏิเสธไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จได้หรือไม่ โดยล่าสุด สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไม่ต้องจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จได้ หากไม่มีการประกาศอย่างชัดแจ้งให้กับลูกค้าได้ทราบก่อนใช้บริการ
เพื่อให้มีความชัดเจนในข้อกฎหมายและการตีความในเรื่อง ค่าเซอร์วิสชาร์จ ซึ่งจะไปเกี่ยวพันกับหลายกิจการในอนาคต มีประเด็นการวินิจฉัยทางภาษีของกรมสรรพากรที่น่าสนใจ สามารถเทียบเคียงว่า ค่าเซอร์วิสชาร์จ แท้จริงคือ อะไร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ เพื่อจะได้สร้างความเป็นธรรมของการให้บริการแก้ผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
เลขที่หนังสือ : กค 0702/7983
วันที่ : 27 ตุลาคม 2557
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท โรงแรมฯ ไม่นำค่าบริการ (Service charge) มาลงเป็นรายได้
ข้อกฎหมาย : มาตรา 67 และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ 1. สำนักงานฯ ได้หารือเกี่ยวกับเงินค่าบริการ (Service Charge) ซึ่ง สถานประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการ ได้แก่ กิจการโรงแรม เรียกเก็บค่าบริการ (Service Charge)จากลูกค้าในอัตราร้อยละของค่าห้องพัก ค่าอาหารและค่าบริการต่างๆ จากผู้ที่มาใช้บริการ พร้อมทั้งเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 7 และได้ออกใบเสร็จรับเงินจำนวนรวมให้กับลูกค้า สถานประกอบการได้นำค่าบริการ (Service Charge) ที่ได้รับมาแบ่งเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนในแต่ละเดือน โดยสำนักงานฯ มีความเห็นว่า ค่าบริการ (Service Charge) เป็นของนายจ้างที่จ่ายให้กับลูกจ้าง ต้องนำมาเป็นฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบเพื่อนำส่งสำนักงานฯ
2. บริษัท โรงแรมฯ ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนว่า ค่าบริการที่บริษัทฯ นำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างไม่ใช่ค่าจ้าง ไม่ต้องนำมารวมคำนวณ เงินสมทบ เนื่องจากค่าบริการ (Service charge) ดังกล่าว เป็นเงินที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าแทนลูกจ้างไม่ใช่เงินรายได้ของบริษัทฯ จึงไม่นำค่าบริการ (Service charge) มาลงบัญชีเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุน แต่นำไปลงบัญชี เงินค่าบริการค้างจ่าย ในหมวดหนี้สินหมุนเวียนอื่นในงบดุล
3. สำนักงานฯ หารือว่าการลงบัญชีของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย กรณีค่าบริการ (Service charge) ที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าทุกราย ถือเป็นรายได้ของกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ จะต้องบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และการที่บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าบริการ (Service charge) ให้แก่ลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่มีผลให้ฐานภาษีของบริษัทฯ ลดลงแต่อย่างใด
ชัดเจนในคำวินิจฉัยว่า เงินส่วนนี้เป็นรายได้ของผู้ประกอบการ ดังนั้น การเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ หรือค่าบริการ ซึ่งปรกติทางร้านหรือผู้ประกอบการต้องมีหน้าที่ในการให้บริการ โดยมีพนักงานของร้าน หรือผู้ประกอบการอยู่แล้ว และเป็นหน้าที่ของทางร้านและผู้ประกอบการต้องดูแลเรื่องค่าจ้างของพนักงานเหล่า นั้น การเรียกเก็บค้าเซอร์วิสชาร์จ จากลูกค้าผู้ใช้บริการต่างหากเป็นธรรมหรือไม่ หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการค้าการบริการจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรเพื่อความชัดเจน และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่.