ครม.กดปุ่ม เพิ่มรายได้โอนตรง 3 พันบ. – ลดภาระหนี้เกษตรฯรายย่อย

ครม.กดปุ่ม เพิ่มรายได้โอนตรง 3 พันบ. – ลดภาระหนี้เกษตรฯรายย่อย

ครม.กดปุ่ม เพิ่มรายได้โอนตรง 3 พันบ. – ลดภาระหนี้เกษตรฯรายย่อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่าน ธ.ก.ส. เพิ่มรายได้และบรรเทาภาระหนี้สิน โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยโดยตรงรายละ 3,000 บาท ปรับปรุงโครงสร้าง-ลดภาระหนี้ และคืนดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่มีวินัยดี


นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการ 2 มาตรการหลัก คือ


1.มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานราชการแล้ว โดย ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3,000 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.51 ล้านคน และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.34 ล้านคน รวมผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 2.85 ล้านคน ใช้งบประมาณ 6,540 ล้านบาท


2.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรให้กลับมาทำการผลิตต่อไปได้และสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทให้เข้ามาทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ชำระดี กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้สินต้นเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท จำนวนประมาณ 2,897,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 334,525 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 มีนาคม 2561 จำนวน 3 โครงการ ดังนี้


2.1 โครงการปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกรรายย่อยที่มีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น และมีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใน 2 กรณี ได้แก่ 1) หากไม่มีหลักประกันจำนองและไม่มีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ มีเกษตรกรเป้าหมายประมาณ 50,000 ราย 2) หากมีหลักประกันจำนองและมีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ทายาท โดยนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ 5 ปี พักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR = 7% หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 85,000 ราย


2.2 โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก มีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะดำเนินโครงการใน 2 กรณี ได้แก่
1) หากเป็นเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีทายาทเข้าเป็นลูกค้าแทน จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 80% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 200,000 ราย


2) กรณีเกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 50% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 340,000 ราย
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเกษตรกรและทายาทได้รับการช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้ตามโครงการจำนวน 675,000 ราย จำนวนดอกเบี้ยที่ลดให้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง


และ 2.3 โครงการชำระดีมีคืนแก่เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยในส่วนที่ลูกค้าส่งชำระระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ตุลาคม 2560 ในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้ลูกค้ามาลดภาระหนี้โดยตัดเงินต้นให้ลูกค้าในกรณีที่มีหนี้คงเหลือ และคืนให้ลูกค้าเป็นเงินสดในกรณีที่ไม่มีหนี้คงเหลือ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนกรณีฉุกเฉินจำเป็น (A-Cash) รายละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงิน 50,000 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 2,222,000 ราย หนี้สินจำนวน 272,000 ล้านบาท


“ธ.ก.ส.เล็งเห็นว่าที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตทางการเกษตรผันผวน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้ง มีเกษตรกรบางรายเสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือมีอายุมาก ทำให้ศักยภาพในการทำการเกษตรลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นนั้นเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับสถาบันการเงินโดยทั่วไป ส่งผลให้เกษตรกรลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการการเงินของ ธ.ก.ส.และในระยะยาว กลับจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.จากการที่มีทายาทมารับช่วงทำการเกษตรต่อเนื่อง” นายลักษณ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook