เนตไอดอลคนดี ควรเสียภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง!!

เนตไอดอลคนดี ควรเสียภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง!!

เนตไอดอลคนดี ควรเสียภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีครับ!! กลับมาพบกันอีกครั้งกับผม TAXBugnoms คนเก่าคนเดิม เพิ่มเติมด้วยบทความประจำสัปดาห์เหมือนเคยครับผม สำหรับบทความในตอนนี้นั้น คือ เรื่องที่กำลังฮอตฮิตไม่พูดพร่ำทำเพลงให้เสียเวลาครับ เพราะมันเป็นเรื่องที่ใครหลายคนสงสัยกันมานาน นั่นคือ “เนตไอดอล” ทั้งหลายนั้น เสียภาษีหรือเปล่า ว่ะฮะฮ่า!!

ก่อนจะอ่านต่อไป ขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่า เรื่องนี้พรี่หนอมจะไม่ยุ่งว่าใครจะเสียไม่เสีย มันเป็นเรื่องของเขา แต่จากข่าวที่บอกมาว่า พี่สรรพากรจะมารีด เอ้ย เรียกเก็บภาษีกันน่ะสิ (ที่มา : สรรพากรผุดทีมไล่เก็บภาษี อี-คอมเมิร์ซยันเน็ตไอดอล และ ถึงคราวรีดภาษี…!! “เน็ตไอดอล-เพจดัง” ) ซึ่งหลายๆคนคงสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่าว่า ถ้าหากอยากจะเสียภาษีให้ถูกต้อง เน็ตไอดอลทั้งหลายนั้นควรทำยังไงกันดี

จากการที่เป็นคนคลุกคลีในวงการขายครีม ไม่ใช่! วงการทำงานออนไลน์ต่างๆ ผมขอแยกประเภทรายได้หลักๆ ของเน็ตไอดอลออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันครับ นั่นคือ เขียน – ขาย – โชว์ ซึ่งแต่ละแบบก็มีการคำนวณภาษีแตกต่างกันออกไป แต่ลำดับแรกคงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องกันก่อนครับว่า ไม่ว่าจะรายได้แบบไหนก็ตาม ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีกันทั้งนั้น ครับผม แล้วหลังจากนั้นค่อยมาดูกันว่าแต่ละอย่างจะเป็นอย่างไร เอาล่ะ … เรามาดูกันเลยครับ

รายได้จากการเขียน : ส่วนใหญ่จะเป็นงาน Review หรือ Advertorial หรือ Sponser Post ใน Page Tweet Instagram ต่างๆ ที่แล้วแต่จะเรียกกันนั่นแหละครับ ซึ่งตรงนี้จะถือว่าเป็น รายได้ประเภทที่ 2 ตามกฎหมาย (นั่นคือ งานรับจ้าง เหมือนกับฟรีแลนซ์ทั่วไปนี่แหละครับ)

รายได้จากการขาย : อันนี้มาแนวขายของล่ะครับ ครีม ยา อาหารเสริม วิตามิน หรือของทั้งหลาย โดยปกติจะเป็นรูปแบบของการซื้อมา-ขายไปมากกว่าประเภทอื่น ซึ่งตรงนี้จะถือว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมาย และใช้วิธีการคำนวณภาษีเหมือนกับการขายของออนไลน์นั่นแหละครับ

รายได้จากการโชว์ : อันนี้มาแนว Event หรือออกงาน ซึ่งตรงนี้ต้องแยกให้ดีครับว่า เป็นงานโชว์ประเภทไหน ถ้าไปร่วมงานธรรมดา หรือ โชว์ตัวทั่วไป แบบนี้ยังคงถือว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 2 ตามกฎหมายเหมือนเคย (งานจ้าง) ซึ่งหลักการคำนวณนั้นจะเหมือนกับการรายได้จากการเขียนนั่นเองครับ

แต่อาจจะมีบางกรณีสำหรับเน็ตไอดอลที่โด่งดัง หรืองานใหญ่ขึ้น จนกลายสภาพเป็น นักแสดงสาธารณะ ซึ่งแบบนี้จะเป็นรายได้ประเภทที่ 8 แทนแล้วครับ

โดยคำว่า นักแสดงสาธารณะ หมายความถึง นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ เช่น นักแสดงละครเวที ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์คโชว์ และ นักกีฬาอาชีพ นั่นเองครับ

หลังจากอธิบายไปแล้ว เรามาดูสรุปสั้นๆแบบเข้าใจง่ายและอธิบายความแตกต่างตามตารางด้านล่างนี้กันครับ

ทีนี้ลองมาคำนวณกันคร่าวๆบ้างดีกว่าครับ สมมุติว่า ในปีนี้ เนตไอดอลสามคน มีรายได้จากงานแต่ละงานแตกต่างดังนี้

1) งานเขียนและโชว์ตัวปกติ จำนวน 1 ล้านบาท
2) ขายของออนไลน์จำนวน 1 ล้านบาท
3) นักแสดงสาธารณะจำนวน 1 ล้านบาท

โดยเนตไอดอลทั้งสามคนนี้ ไม่มีรายการค่าลดหย่อนเพิ่มเติมใดๆ นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 30,000 บาทเท่านั้นครับผม

จะเห็นได้ว่าถ้าหากไม่มีค่าลดหย่อนเพิ่มเติมใดๆแล้ว เนตไอดอลกรณีที่ที่รับงานจ้าง (ประเภทที่ 2) จะต้องเสียภาษีและคำนวณได้ไม่แตกต่างจากมนุษย์เงินเดือนทั่วไปสักเท่าไรใช่ไหมครับ

ทีนี้มาดูกันต่อครับสมมติว่า ถ้าหากเนตไอดอลคนเดียวมีรายได้จากหลายๆทางแทน การคำนวณภาษีก็จะเป็นแบบนี้ครับ

ดังนั้นเมือ่มาถึงตรงนี้ หากเนตไอดอลทั้งหลายไม่อยากเสียภาษีเยอะ ผมคิดว่าควรต้องเริ่มต้นจากการที่จะวางแผนภาษีโดยหักค่าลดหย่อนต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น อาจจะมีการซื้อ LTF RMF ประกันชีวิต เพิ่มเติมเพื่อลดหย่อนภาษี แบบนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งไว้ที่จะช่วยให้พิจารณาครับ

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ากรณีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วนั้น ก็ไม่ได้แปลว่ามันจบสิ้นการเสียภาษีแต่อย่างใด แต่ขอเน้นไว้อีกทีนะครับว่า ยิ่งถูกหักไว้ยิ่งต้องยื่น เพราะพี่สรรพากรรู้แล้วจ้าว่าเรามีรายได้ และเราจะมาอ้างไม่ได้นะว่าไม่รู้กฎหมายน่ะครับผม

ยังไม่จบเพียงแค่นี้!! ยังเหลือภาษีมูลค่าเพิ่มอีกนะจ๊ะ

ทีนี้สิ่งที่ต้องดูเพิ่มเติม มีอีก 2 ประเด็นครับ นั่นคือ วิธีการคำนวณภาษีในกรณีที่มีเงินได้มากกว่า 1 ล้านบาท และ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ต้องทำอย่างไร มาดูกันต่อเลยครับ

1. ในกรณีมีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี (จากรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน) จะต้องคำนวณภาษีอีกวิธีหนึ่งมาเปรียบเทียบกัน นั่นคือนำ รายได้ x 0.5% แล้วมาเปรียบเทียบกันกับวิธีคำนวณตามปกติ และเสียภาษีตามวิธีที่สูงกว่าครับ

2. กรณีมีรายได้จากงานเขียน / โชว์ตัวทั่วไป และ ขายของออนไลน์ มากกว่า 1.8 ล้านบาท เน็ตไอดอลเหล่านี้ล้วนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยครับ (แต่กรณีนักแสดงสาธารณะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มครับ)

ซึ่งตรงนี้ผมเคยเขียนบทความเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วครับ กับบทความที่มีชื่อว่า ก่อนจะถามว่าจด VAT ดีไหม ? มาเข้าใจภาษีมูลค่าเพิ่มกันก่อนดีกว่า หากสนใจลองอ่านดูได้ครับ

สรุป

สุดท้ายก่อนจากกัน ผมขอสรุปสั้นๆให้อีกครั้งสำหรับทุกคนที่ได้เข้ามาอ่านครับ ไม่ว่าจะเป็นเน็ตไอดอลหรือไม่ก็ตาม โปรดจงรับรู้ไว้ครับว่า การมีรายได้นั้นถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้วครับ และการถูกหักภาษีไว้ในกรณีต่างๆ ถือว่าเป็นการบอกให้ทางพี่ๆสรรพากรรับรู้ว่าเรามีรายได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกันครับ หลังจากนั้นเราค่อยมาดูกันต่อครับว่า จะเสียภาษียังไง และเสียภาษีแบบไหนให้ถูกต้อง

ผมว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าการที่จะมาถกเถียงกันว่าเราเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ หรือเราต้องเสียภาษีบ้างไหม มันคือเรื่องของการเข้าใจหลักการของกฎหมายนั่นเองครับ บางทียอดขายต่างๆที่เราตั้งใจโชว์ในหน้าเฟสนั้น (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม) มันอาจจะกลายเป็นหลักฐานผูกมัดการมีรายได้อของเราไว้โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ครับ ดังนั้น ทำให้ถูกต้องและเข้าใจภาษีให้ครบถ้วน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่า และทุกคนควรนำไปพิจารณาให้เหมาะสมครับ

และท้ายที่สุดแล้ว ผมหวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้คงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ ฝากติดตามกันต่อไปด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ผมคงต้องลาไปก่อน สวัสดีคร้าบบบ

TAXBugnoms AomMoney Guru

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook