ถึงวันเกษียณ แล้วจะหาเงินที่ไหนใช้
เราเคยคิดหรือเปล่าว่าเมือถึงวันที่เราไม่ทำงานแล้ว เกษียณอายุแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ จะมีเงินใช้เดือนละเท่าไหร่ ถ้าเรายังไม่เคยนึกถึง วันนี้มาสิ มีบทความดีๆ มาฝาก เพื่อที่เราจะได้วางแผนการทำงาน การออมเงินให้ตัวเองในวันนี้เพื่อความสะดวกสบาย เป็นผู้เกษียณอายุที่ชิลอย่างแรงในวันหน้าค่ะ
เราควรมีเงินออมเพื่อการเกษียณอย่างน้อยเท่าไหร่กัน?
1ตั้งเป้าหมาย
ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อนนะคะ ว่าเกษียณแล้วเราอยากมีค่าใช้จ่าย อยากมีเงินใช้ต่อเดือนเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้อย่างสบายๆ ส่วนนี้ไม่จำกัดนะคะ ใช้ตัวเลขไหนก็เอามาลองคำนวณได้เหมือนกัน เพราะว่าแต่ละคนก็มีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกันจริงมั้ยคะ แต่จำนวนนี้จะมีความสัมพันธ์กับเงินที่เราจะต้องออมในขั้นตอนต่อไปนะคะ
2คำนวณเงินออม
สมมติว่าเราต้องการมีเงินใช้เดือนละ 50่,000 บาทหลังเกษียณ จะได้อยู่กินสบายๆ ชิลๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย เอาเงินจำนวนนี้มา คูณด้วย 200 ก็จะได้จำนวนเงินที่เราต้องมีออมค่ะ
ตัวอย่าง
50,000 x 200 = 10,000,000 บาท
โอ้โห! สิบล้านจะไปเอาเงินมาจากไหน? อย่าเพิ่งตกใจค่ะ ด้วยสูตรนี้ หากเราออมเงินวันละ 30 บาทฝากธนาคารกินดอกเบี้ยไปวันๆ จนเกษียณเราก็จะมีเงินเก็บประมาณ 1,000,000 บาทเมื่อเกษียณพอดีค่ะ แต่ถ้าเรานำเงินส่วนนี้ไปลงทุน เช่น ลงทุนกองทุนหุ้น ลงทุนกองทุนรวม ซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีๆ เราก็อาจจะเพิ่มพูนเงินออมของเราได้หลายเท่าเลยทีเดียวค่ะ
3เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เบี้ยยังชีพฯ นี้เป็นเงินที่ทางภาครัฐจ่ายให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยจะจ่ายตามช่วงอายุ คือ 60-69 ปีได้รับเดือนละ 600 บาท 70-79 ปีได้รับเดือนละ 700 บาท 80-89 ปีได้รับเดือนละ 800 บาท ตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไปได้รับเดือนละ 1,000 บาท แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเงินถุงเงินถังแต่ก็สามารถเป็นเงินเสริมช่วยค่าใช้จ่ายรายเดือนบางส่วนของเราได้เช่นกันค่ะ
4กองทุนประกันสังคม
เรียกได้ว่าเป็นกองทุนที่ถูกลืม จริงๆ แล้วเราสามารถรับเงินจากกองทุนประกันสังคมไว้ใช้ยามเกษียณได้นะคะ ในฐานะที่เราเป็นลูกจ้าง บริษัทจะต้องทำประกันสังคมให้เราตามกฎหมาย คนส่วนใหญ่คิดแค่ว่าเป็นแค่ค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย แต่ว่าเงินประกันสังคม รวมกับเงินนายจ้างสมทบในแต่ละเดือน จะมีแบ่งออกมาส่วนหนึ่งเป็นเงินออมวัยเกษียณซึ่งเมื่อเราอายุครบ 55 ปีเรามีสิทธิ์เลือกรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ จากกองทุนประกันสังคมได้ 2 แบบค่ะ คือ แบบบำเหน็จ หรือ แบบบำนาญ ซึ่งเราจะได้รับเงินโดยประมาณสี่พันกว่าบาทต่อเดือนทีเดียว
5กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนนี้เป็นส่วนความใจดีของนายจ้าง เพื่อเป็นเงินออมอัตโนมัติสำหรับลูกจ้างเพื่อเอาไว้ใช้หลังเกษียณ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด แต่หน่วยงานหรือบริษัทบางแห่งก็จะมีให้กับลูกค้า โดยจะมีการจัดสรรเงินโดยหักเงินเดือน เดือนละ 2-15% ของเงินเดือน โดยที่นายจ้างจะสมทบด้วยอัตราสูงสุดตามนโยบายของบริษัท ประมาณ 10-15% ของเงินเดือน ส่วนนี้ยิ่งเราอยู่นาน ก็ยิ่งจะมีเงินมากขึ้น เมื่อเราออกจากงาน หรือเกษียณไปแล้วเงินส่วนนี้อาจจะสามารถช่วยเราได้มากเลยค่ะ
6กองทุนรวมเพื่อการสำรองเลี้ยงชีพ (RMF)
ออกแบบมาเพื่อช่วยให้คนวัยทำงานมีวินัยในการออมเงินระยะยาว และเป็นรายได้หลักหลังการเกษียณเพิ่มเติมนอกจากเงินที่จะได้รับจากรัฐบาลและนายจ้าง โดยสามารถนำไปหักภาษีได้ เป็นแรงจูงใจอีกอย่างในการออมเงิน โดยจำนวนที่ได้รับเมื่อเรามีอายุ 55 ปีขึ้นไปแล้วก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เราได้ลงทุนไปในแต่ละครั้ง รวมกับนโยบายของกองทุนที่เราเลือก หากเราลงทุนไว้มาก ก็จะได้รับเงินยามเกษียณมากขึ้นด้วย
7ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
แม้ว่านี่จะไม่ได้เป็นการออมเพื่อการเกษียณโดยตรง การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นการออมเงินระยะยาว ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี อาจจะให้ผลตอบแทนไม่มากนักเทียบกับการลงทุนแบบอื่นๆ แต่ก็ยังสามารถช่วยให้เรามีเงินออมได้ตามเป้าหมายเหมือนกันค่ะ เพราะเราจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกเดือนจนกว่าจะครบจำนวนปีตามกรมธรรม์ที่ซื้อ แถมยังนำเงินส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วยค่ะ
8ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เพื่อให้คนไทยมีเงินใช้ยามเกษียณได้จริงๆ เป็นการประกันระยะยาว คือเราต้องจ่ายเบี้ยประกันอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป เหมือนกันประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แต่แบบนี้ระจ่ายเงินคืนให้เราต่อเมื่อเรามีอายุ 55 หรือ 60 ปีขึ้นไปแล้วเท่านั้น โดยจะทำการทยอยจ่ายเป็นงวดๆ เพื่อให้เรามีเงินใช้ในแต่ละเดือนได้หลังเกษียณนั่นเอง
เห็นมั้ยคะ เรามีตัวช่วยเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถนำข้อมูลตรงนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับเราแค่ไหน แบบนี้เราก็เริ่มวางแผนกันวันนี้เลยค่ะ ว่าเราอยากมีเงินใช้มากน้อยแค่ไหน จะได้เริ่มวางแผนการแบ่งเงินออมได้ถูก เพราะเงินที่เราได้รับลำพังจากหน่วยงานต่างๆ จะไม่สามารถดูแลการใช้จ่ายของเราในแต่ละเดือนได้ แต่เราสามารถทำการวางแผนล่วงหน้าแล้วเตรียมการออมเงินเพื่อให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ในอนาคตหากเราเริ่มตั้งแต่วันนี้ค่ะ มาสิ ขอเอาใจช่วยทุกท่านค่ะ