คลัง กู้ ไจก้า 5.3 หมื่นล.ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ H.E. Mr. Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 3 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวกับ Mr. Hiroo Tanaka หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ณ กระทรวงการคลัง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ภายใต้ความร่วมมือทางการเงินครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังกู้เงินผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) วงเงิน 166,860 ล้านเยน หรือเทียบเท่าประมาณ 53,479 ล้านบาท สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยเงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนแบบ Preferential Terms มีอัตราดอกเบี้ยสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในอัตราร้อยละ 0.30 ต่อปี และสำหรับส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และมีค่าธรรมเนียมเงินกู้ (Front-End Fee) ร้อยละ 0.20 ของวงเงินกู้ กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ระยะเวลาเบิกจ่ายภายใน 6 ปี เพื่อรองรับการดำเนินโครงการจนเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ ให้สามารถจัดซื้อสินค้าและบริการได้จากทุกประเทศ โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ
โครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้ประโยชน์จากการเดินรถระบบรถไฟชานเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย สะดวก ทันสมัย ตรงเวลา โดยคาดว่าเมื่อเดินรถระบบรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 300,000 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ นอกจากนี้ ยังจะทำให้สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของโครงการกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นสถานีชุมทางของรถไฟทางไกลสายเหนือ สายอีสาน สายตะวันออก และสายใต้ และเป็นสถานีศูนย์กลางของระบบรถไฟชานเมือง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สีแดงอ่อน และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ รวมถึงรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) ในอนาคต
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2511 จนถึงปัจจุบันมีวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 2,369,468 ล้านเยน ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง และการศึกษา รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์