เป็นหนี้แล้วจะถูก ยึดทรัพย์ อายัดเงิน จนหมดตัวไหม?
ถ้าคุณเป็นหนี้และไม่มีเงินจ่าย เจ้าหนี้สามารถฟ้องศาลได้ โดยตามกฎหมายถือว่าเป็น คดีแพ่ง ซึ่งมีโทษคือการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหาย ไม่มีการติดคุก หากว่าคุณเป็นฝ่ายแพ้คดี และคุณไม่สามารถชำระคืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิ์ ยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินของคุณได้ แต่อย่าเพิ่งตกอกตกใจ กลัวว่าเจ้าหนี้จะมาขนของของคุณไปจนหมด จนคุณไม่เหลืออะไรเลย เพราะการ ยึดทรัพย์ นั้นมีข้อจำกัดอยู่ ดังต่อไปนี้
หลักเกณฑ์การยึดทรัพย์
1. ทรัพย์สินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด แต่ถ้าเป็นของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เครื่องเพชรเครื่องพลอย ของเหล่านี้แม้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ยึดได้เพราะไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ลูกหนี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้หากไม่มีของเหล่านี้
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องมือเครื่องจักรในการดำเนินกิจการ ถ้ามูลค่ารวมกัน 100,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด ในกรณีที่เครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ก็สามารถยื่นเรื่องร้องขอต่อศาลให้งดเว้นได้
หลักเกณฑ์การอายัดเงิน
นอกจากการ ยึดทรัพย์ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เจ้าหนี้ยังสามารถอายัดเงินเดือนของคุณได้ด้วย!! เงินเข้าบัญชีแล้วจะยึดทั้งหมดเลยหรือ แล้วคุณจะเอาเงินที่ไหนในการเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวกันล่ะ ใจเย็น ๆ ค่ะ เพราะการอายัดเงินเดือนนั้นมีข้อจำกัดอยู่ ไม่โหดขนาดนั้น โดยมีรายละเอียดการอายัดเงิน ดังต่อไปนี้
1. หากเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัททั่วไปที่มีเงินเดือนเกิน 10,000 บาท จะถูกอายัดได้ไม่เกิน 30% ของเงินเดือน แต่ถ้าหลังจากหัก 30% แล้วลูกหนี้เหลือเงินไม่ถึง 10,000 บาท เจ้าหนี้ไม่สามารถหักเต็ม 30% ได้ ต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่าย 10,000 บาท แต่ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ก็จะได้รับการงดเว้นไม่ถูกอายัดเงินเดือน โดยลูกหนี้ที่เป็น ข้าราชการ/ลูกจ้างประจำของข้าราชการ จะได้รับงดเว้นไม่ถูกอายัดเงินเดือนเช่นกัน หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อให้ลดเปอร์เซนต์การอายัดเงินเดือนได้
2. เงินโบนัสสามารถอายัดได้ไม่เกิน 50%
3. เงินตอบแทนการออกจากงาน จะถูกอายัดได้เต็ม 100%
4. เงินค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง เจ้าหนี้จะสืบทราบและทำการร้องขอต่อศาลว่าจะอายัดเท่าไร
5. บัญชีเงินฝาก เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ทั้งหมด
6. เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นสังกัดเอกชนจะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน
7. หุ้น กรมบังคับคดีสามารถยึดใบหุ้นเพื่อขายทอดตลาดได้ หรือถ้ามีเงินปันผล ก็จะทำเรื่องอายัดเงินปันผลได้
8. เงินสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท หากเจ้าหนี้สืบทราบว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์ใด สามารถอายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์ได้
9. ในกรณีที่ลูกหนี้เปิดบริษัท โดยร่วมทุนกับผู้อื่นในการเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ กรมบังคับคดีจะอายัดเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น ไม่ได้อายัดทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ยังมีเงินบางส่วนที่เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้ คือ
1. เงินกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้กำหนดเอาไว้
ลูกหนี้ทั้งหลายอย่าเพิ่งตกอกตกใจไปนะคะ ว่าเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์สินทุกอย่างไปหมดจนคุณเหลือแต่ตัว เพราะตามที่เราได้กล่าวไปแล้ว แม้จะเป็นหนี้ แต่ก็ต้องมีเงินเอาไว้เลี้ยงตัวด้วย เจ้าหนี้ไม่สามารถนำของทุกอย่างของคุณไปได้ กฎหมายยังคงคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียมกันค่ะ บทความดี ๆ แบบนี้ยังมีอีกมากมาย ถ้าหากคุณผู้อ่านสนใจสามารถกด subscribe เพื่อรับสาระความรู้จาก MoneyGuru.co.th แบบนี้ทางอีเมลได้ทุก ๆ สัปดาห์เลยค่ะ