อยากทำอาชีพเสริม ต้องเริ่มยังไง
“การจะทำอาชีพเสริมให้ดี ควรพิจารณาความพร้อมทั้งด้านเวลา ความชอบ และทักษะความสามารถ”
– K-Expert -
K-Expert แนะนำว่าผู้ที่กำลังมองหาอาชีพเสริมควรพิจารณา 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “เวลาให้ ใจรัก ทักษะพร้อม” การจัดสรรเวลาเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญ เพราะการมีอาชีพเสริมนั้นหมายถึงเรามีงานประจำที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย โดยทั่วไปต้องจัดสรรเวลาส่วนใหญ่ให้กับงานประจำ ทำให้เหลือเวลาว่างแค่ช่วงหลังเลิกงานถึงก่อนนอนและเวลาว่างในวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องจัดการเรื่องส่วนตัวไปด้วย เช่น เรียนหนังสือ หรือดูแลครอบครัวแล้ว การเจียดเวลามาทำอาชีพเสริมเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ
ความชอบเป็นปัจจัยสำคัญเพราะช่วยทำให้เกิดความสุขเมื่อเรากำลังทำอาชีพเสริม ทั้งนี้ เป็นเพราะเราต้องใช้พลังงานเกือบทั้งหมดไปกับงานหลัก หากงานหลักก็เครียดแล้วยังต้องทำอาชีพเสริมที่ตนเองไม่ชอบอีก ก็พาลจะทำให้ชีวิตหดหู่เอาเสียมากกว่า ดังนั้น อยากให้เลือกอาชีพเสริมที่เสมือนว่าเป็นงานอดิเรก เพราะจะทำให้เราได้พักผ่อนทุกครั้งที่ทำงาน พร้อมๆ กับสร้างรายได้ไปด้วยในตัว
ทักษะเป็นปัจจัยในด้านการสร้างกำลังใจให้ทำอาชีพเสริมนั้น เพราะการทำในสิ่งที่เราชำนาญมักจะช่วยให้สร้างรายได้ง่ายกว่าการเลือกทำในเรื่องที่เราขาดทักษะ อย่างไรก็ดี ก็ไม่อยากให้รีบด่วนตัดสินใจปิดโอกาสตัวเอง หากเรามองว่าไม่ได้มีทักษะในเรื่องนั้น เพราะคนที่เพิ่งมาค้นพบความสามารถแผงของตนเองในภายหลังก็มีไม่น้อย
ที่มา: K-Expert ธนาคารกสิกรไทย
ถึงแม้เรายังไม่มีองค์ประกอบดังกล่าวครบถ้วน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากคิดจะมีอาชีพเสริม หากจัดสรรเวลาได้และมีใจรัก ก็ให้เสริมทักษะ ซึ่งสามารถทำได้โดยการศึกษาข้อมูลหรือพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในวงการเพื่อให้เห็นแนวทางปฏิบัติมากที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเริ่มต้นลงมือทำ โดยอยากให้เริ่มต้นทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อค้นหาความแตกต่างให้กับตัวเอง เช่น อยากเป็นนักถ่ายภาพก็เริ่มจากการถ่ายรูปแนวเก๋ๆ ให้กับพี่น้อง แฟน เพื่อนฝูง แล้วตั้งใจทำผลงานให้ออกมาดีเสมือนหนึ่งว่าเรามีอาชีพนั้นแล้ว หากเป็นเช่นนี้โอกาสก็มักเปิดให้ คือจะได้รับการบอกต่อจากผู้ที่เราไปถ่ายให้ฟรีนั่นเอง
หากความชอบมีและทักษะก็ให้แต่งานยุ่งมาก ก็ลองปรับที่กระบวนการทำงาน เราอาจผ่องถ่ายงานบางอย่างให้คนที่เราไว้ใจเป็นผู้ดำเนินการ (outsourcing) เช่น อาชีพเสริมขายชุดเดรสสำหรับสาวทำงาน จะมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาคือการตัดเย็บ ก็โอนงานนี้ออกไปเพื่อเรามีเวลาสำหรับกระบวนการอื่น เช่น งานออกแบบและหาลูกค้า อีกเทคนิคหนึ่งคือพยายามทำงานบนอินเตอร์เน็ต เช่น ขายของออนไลน์ ขายภาพถ่ายผ่านเว็บไซต์ออกแบบสินค้า เขียนบล็อกหรือรีวิวสินค้า เป็นต้น ซึ่งช่วยประหยัดเวลาเราทำงานทำงานที่ไหนก็ได้เมื่อไหร่ก็ได้
ส่วนผู้ที่มีทักษะโดดเด่นแต่ขาดใจรัก ก็ต้องแก้ที่รูปแบบของอาชีพเสริม เรื่องนี้อาจฟังดูแปลกแต่เกิดขึ้นได้ เช่น กรณีที่บางท่านทำขนมไทยเก่งแต่ไม่อยากเป็นแม่ค้าขายขนม หรือชอบเดินทางท่องเที่ยวแต่ไม่อยากเป็นไกด์ทัวร์ เป็นต้น หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรเพราะมันสะท้อนเหตุผลส่วนบุคคลบางอย่าง คำแนะนำคืออย่าฝืนตัวเอง แต่ให้ลองประยุกต์แนวทางการทำอาชีพเสริมบนทักษะพื้นฐานของเรา เช่น เปิดเป็นโรงเรียนสอนทำขนมสำหรับเด็กไปเลย หรือเขียนบล็อกหรือหนังสือแนะนำที่ท่องเที่ยวแนวผจญภัยก็ได้
สุดท้ายนี้ ขอฝากว่าสิ่งที่เราจะทำนั้นเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกของการสร้างรายได้เท่านั้น หากอาชีพเสริมมีแนวโน้มส่งเสียต่องานประจำ ชีวิตครอบครัว หรือสุขภาพแล้ว แนะนำให้หยุดอาชีพเสริมนั้นไปก่อน เพราะความสุขไม่ได้เกิดจากการมีเงินเยอะเสมอไป ขอให้เจออาชีพเสริมที่ถูกใจครับ
โดย : ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ PhD
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก k-expert.askkbank.com