ศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์คดีปล่อยกู้ “กฤษดามหานคร” หมื่นล้าน
ที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกา มีมติไม่รับอุทธรณ์ อดีตกรรมการธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้แก่กลุ่มกฤษดามหานครจนเสียหายร่วมหมื่นล้านบาท
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2558 เรื่องคำสั่งมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่ามีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ของนายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการสินเชื่อ ของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 20 ในคดีหมายเลขดำ อม.3/2555 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 (หลบหนีคดีศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวมา) , ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย , นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทยฯ และพนักงาน ธนาคารกรุงไทย กับนิติบุคคลและกรรมการนิติบุคคลร่วมกันเป็นจำเลยที่ 2-27 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ยักยอก, ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2546 – 30 เม.ย. 2547 ผู้บริหารและคณะกรรการธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อให้นิติบุคคล ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ นำไปซื้อที่ดิน โดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อ , แหล่งเงินทุนที่จะชำระหนี้ และไม่มีการควบคุมติดตามดูแลสินเชื่อหลังการอนุมัติเงินกู้โดยใกล้ชิด รวมทั้งไม่เรียกหลักประกันให้คุ้มมูลหนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย โดยพวกจำเลย นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตเป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 10,054 ล้านบาทเศษ
คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิจารณาแล้ว มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 ว่า จำเลยที่ 2-5 , จำเลยที่ 7-27 มีความผิดตามกฎหมายให้จำคุกจำเลยที่ 2-4 และที่ 12 ซึ่งเป็นอดีตคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทยฯ คนละ 18 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 5 , จำเลยที่ 8-11 และจำเลยที่ 13-17 ซึ่งเป็นคณะกรรมการสินเชื่อ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย ให้จำคุกคนละ 12 ปี
ขณะที่จำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ให้ปรับรายละ 26,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 23-27 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทนิติบุคคลของกลุ่มบริษัทกฤษดามหานครให้จำคุกคนละ 12 ปี
นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งให้จำเลยที่ 20, 25-26 ร่วมกันคืนเงินให้ ธนาคารกรุงไทยจำนวน 10,004 ล้านบาทเศษ โดยให้จำเลยที่ 3 , 22, 27 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 9,554 ล้านบาทเศษ รวมทั้งให้จำเลยที่ 12-17 , จำเลยที่ 21 ,23 , 24 ร่วมรับผิดจำนวน 8,816 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาฯพิพากษาให้ยกฟ้อง นายนรินทร์ ดรุนัยธร และนางนงนุช เทียนไพฑูรย์ คณะกรรมการสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทยฯ จำเลยที่ 6-7
ต่อมา นายพงศธร รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ที่เป็นประธานคณะกรรมการสินเชื่อ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 และ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 20 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า มีพยานหลักฐานใหม่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคาร , กรมที่ดิน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ช่วงระยะเวลาก่อนและหลัง การอนุมัติสินเชื่อให้กับ บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด จำเลยที่ 19 นั้น กระแสเงินหมุนเวียนในบัญชี ตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 5 และบุคคลในครอบครัวรวมทั้งบุคคลใกล้ชิดไม่ได้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 5 ไม่ได้ร่วมทำผิดคดีนี้ เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ
นอกจากนี้ จำเลยที่ 5 ยังได้ยื่นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงอีกหลายประการ ในเรื่องการพิจารณาสินเชื่อวงเงินกู้ เต็มความสามารถในการชำระหนี้ ของจำเลยที่ 19 รวมทั้งการลงนามในบันทึกขออนุมัติสินเชื่อ
ขณะที่ บริษัท กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ได้ยื่นอุทธรณ์ ว่ามีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ และยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนคดีมาก่อน ประกอบด้วย งบการเงิน และรายการแสดงความเคลื่อนไหวทางบัญชี ของจำเลยที่ 20 ที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่มีการโอนเงินตามแคชเชียร์เช็ค 11 ฉบับ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่บริษัทจำเลย ที่ 19 ได้รับจาก ธนาคารกรุงไทยฯ และรายงานประจำปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2556 ที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 20 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และหลักฐานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและชื่อบริษัท
องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ ได้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และ 20 แล้ว เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลฎีกาฯ ซึ่งไม่ใช่กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยข้อ 4 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ.2551
องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และ 20 ไม่ชอบด้วยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะรับไว้พิจารณา
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้พิจารณาความเห็นขององค์คณะพิจารณาอุทธรณ์แล้ว มีมติเห็นชอบตามสำนวนความเห็นขององค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คดีนี้ไว้พิจารณา
ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ชี้แจงว่า เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยของคดีทุจริตการพิจารณาสินเชื่อของ ธนาคารกรุงไทยร่วม 10,000 ล้านบาท ไว้พิจารณาแล้ว คดีจึงถึงที่สุดที่จำเลยจะต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ถูกลงโทษได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและทัณฑสถานหญิงกลาง แต่มีหลายคนได้ออกมาพักรักษาตัวในสถานพยาบาลของรัฐ