หยุดสักทีกับการวางแผนภาษีแบบผิดๆ
ทุกครั้งทุกคราวที่เราพูดถึงเรื่องการวางแผนหรือจัดการการเงิน ใครหลายคนก็มักจะนึกถึงแต่เพียงการเพิ่มรายได้ สร้างรายได้ให้งอกเงยวิธีไหนดี ลงทุนอะไร หุ้นตัวนั้น กองทุนตัวนี้ดีมั๊ย โดยที่เราอาจจะลืมนึกถึงเรื่องใกล้ตัวของเราไป นั่นก็คือรายจ่ายที่เราสามารถจัดการมันได้เช่นกันอย่าง “ภาษี”
คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ว่าเราสามารถจัดการกับภาษีของเราได้และบางคนอาจมีทัศนคติที่ว่าการวางแผนภาษีเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและวุ่นวาย จึงละเลยเรื่องการวางแผนภาษี แต่รู้หรือไม่ว่า ความคิดแบบนี้อาจจะทำให้เราเสียโอกาสในการมีเงินเพิ่ม เพราะตราบเท่าที่เรายังมีรายได้อยู่ เราก็จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับภาษี
ดังนั้นวันนี้จึงอยากปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการวางแผนภาษีแบบง่ายๆกันใหม่ โดยใช้เทคนิคการวางแผนภาษีที่ถูกต้องมาฝากกัน 3 ข้อ และหวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะทำให้ความยุ่งยากทั้งหมดที่เคยมีเปลี่ยนเป็นความเข้าใจที่มากขึ้น เอาล่ะ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
1. หยุดเชื่อคนอื่นในการวางแผนภาษี
เคล็ดลับข้อนี้เป็นเคล็ดลับที่สำคัญและควรเริ่มต้นทำก่อนเป็นอันดับแรก นั่นคือการศึกษาเรื่องภาษีให้ถูกต้อง และเข้าใจว่าเราต้องการอะไรจากการวางแผนภาษี ไม่ใช่เชื่อคำตอบจากคนอื่นเพียงอย่างเดียว เพราะการวางแผนภาษีนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งเราควรหาความรู้และวิเคราะห์ด้วยความเข้าใจ ก็จะทำให้เราสามารถเลือกลดหย่อนได้อย่างถูกต้องครับ
2. หยุดคิดจะลดหย่อนให้มากที่สุด
การพยายามลดหย่อนภาษีให้มากที่สุด อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เพราะสิ่งที่เราต้องการคือประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการจ่ายไปเพื่อลดหย่อนภาษีว่ามันทำให้เรามีค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นหรือลดลงกันแน่
3. ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าต้องการอะไรจากการลงทุนหรือวางแผนภาษี
ความต่อเนื่องจากข้อที่หนึ่ง นั่นคือทุกครั้งที่จ่ายไปเราต้องรู้ว่าสินทรัพย์การเงินแต่ละตัวนั้นตอบโจทย์การลงทุนหรือวางแผนภาษีของเราหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ประกันชีวิต (เหมาะกับคนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการเสียชีวิต) LTF (เหมาะกับคนที่ต้องการลดหย่อนภาษีและลงทุนในระยะยาว) RMF (เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนภาษีและใช้เงินก่อนนี้ยามเกษียณ) ซึ่งถ้าหากเราเข้าใจการลงทุนของเราแล้ว ก็จะทำให้เราเลือกค่าลดหย่อนได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
เช่น ถ้าหากเราอยากวางแผนเกษียณเป็นหลัก การเลือกใช้ RMF หรือประกันแบบบำนาญอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะได้ลงทุนและประหยัดภาษีไปพร้อมๆกัน
หรือ มองอีกด้านหนึ่งเราอาจจะใช้เงื่อนไขทางด้านภาษีมาเป็นโอกาสในการสร้างวินัยทางการลงทุนของเรา ก็ได้ เช่นเราอยากลงทุนระยะยาว ก็อาจเลือกใช้ LTF ในการทยอยซื้อในจำนวนเท่าๆกันทุกเดือน และจำกัดการขายของเราไว้ถึง 7 ปีปฏิทินเพื่อให้เห็นผลของการลงทุนนั้น แบบนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่เลวเหมือนกันครับ
สุดท้ายนี้ขอบอกว่า 3 เทคนิคนี้เป็นเทคนิคง่ายๆที่ใครๆก็ทำได้ ขอเพียงแค่ตั้งใจจริงที่จะสนใจเรื่องของภาษี ผมเชื่อว่าถ้าใครได้ลองทำดูจะรู้ว่ามันไม่ยากอย่างที่คิดแน่นอนครับ
Krungsri Plan Your Money Column