5 มงคลชีวิต จาก “พระเจ้าอยู่หัว”

5 มงคลชีวิต จาก “พระเจ้าอยู่หัว”

5 มงคลชีวิต จาก “พระเจ้าอยู่หัว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตลอดระยะเลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ที่พระองค์ตรัสไว้นี่ คือ “ทศพิธราชธรรม” อันประกอบด้วย ทาน, ศีล, ปริจาคะ,อาชชวะ,มัททวะ,ตบะ,อักโกธะ,อวิหิงสา,ขันติ และ อวิโรธะ เพื่อน้อมรำลึกและพึงเดินตามรอยเท้าพ่อ ทีมงาน TerraBkk ขอนำส่งต่อ 5 มงคลชีวิต จากพระเจ้าอยู่หัว ของปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นเข็มทิศชี้นำการดำเนินชีวิต ไปสู่ความสำเร็จและความดีงามดังนี้

1. ทานการให้การเสียสละ

หมายถึง การเสียสละพระราชทรัพย์เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั้งในด้านบำรุง พระศาสนาและบรรเทาความยากไร้ให้ประชาชนอยู่เป็นกิจวัตร และ ทาน ของในหลวงยังหมายถึงการพระราชทานความรู้ เพื่อประชาชนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน

“การเล่นเรือใบสอนให้คนคิดเองทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือแล้วเรือไม่วิ่งจะไม่มีใครมาสอน เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาจากทางไหน ลมแรงขนาดนี้เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราสู้ แต่ถ้าไม่ไหวเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบาเราจะต้องทำอย่างไร เรือจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะต้องทำอย่างไร เราก็ต้องนั่งรอสักครู่ให้ลมมา”

“ถ้าเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเรามีตัวนี้ เด็กไทยมีตัวนี้ แล้วนำมาใช้ในชีวิต ในมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเองทำเอง” พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509

2. ศีล ความประพฤติดีงาม

เป็นความดีงามของกาย วาจา ใจ ที่ประชาชนจะเห็นได้ในทุกพระจริยวัตรของในหลวง ทุกสังคม ล้วนยอมรับนับถือระบบการศึกษาที่ทำให้เป็นคนเก่ง แต่มักจะลืมไปว่า ความเป็นคนเก่งนั้นยังไม่นับว่าสมบูรณ์พร้อมถ้ายังไม่เป็นคนดี

ในหลวงได้ทรงตักเตือนชี้แนะให้เห็นถึงข้อบกพร่องที่จะทำให้คนเก่งอาจกระทำผิดพลาดไว้ถึง 4 ประการ คือ
•“บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบ” เพราะมุ่งแต่จะทำการสำเร็จ
•“บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น” เพราะถือว่าตนเองเป็นเลิศ
•“บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดี” เพราะมุ่งแต่จะทำตัวให้เด่น
•“บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี” เพราะมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เฉพาะตน

มีพระราชดำรัสว่า “นอกจากจะสอนคนให้เก่งแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย ประเทศเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม คือทั้งเก่งและดี มาเป็นกำลังของบ้านเมือง”


3. มัทเทวะ ความสุภาพอ่อนโยน

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ถือพระองค์ โดยเฉพาะกับประชาชนทรงมีสัมมาคารวะต่อพระสงฆ์ ต่อผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณ ทรงรับฟังปัญหา คำชี้แนะ และแก้ไขด้วยเหตุผล ด้วยความเมตตาและอ่อนโยน

การแก้ปัญหา ต้องรู้สาเหตุของปัญหา การจะรู้สาเหตุของปัญหาก็เกิดจากการพูดคุยไต่ถาม นี่คืออีกด้านหนึ่งในการทรงงานของในหลวงเพื่อแก้ปัญหาของแผ่นดิน โดยเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเยี่ยมเยียนไต่ถาม รับรู้ในพื้นที่จริงอย่างไม่ถือพระองค์ นี่เองที่ทำให้การแก้ปัญหาของในหลวงเป็นการแก้แบบยั่งยืน โดยไม่เปลี่ยนแปลงพื้นฐานของวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อแบบดั้งเดิม

4. ตบะ ความเพียร ความอุตสาหะ

ทรงมีความอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความอดทน ปราศจากความเกียจคร้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมือง ไม่ย่อท้อ แม้บางขณะจะทรงพระประชวรในหลวงทรงบอกเล่า ให้เราเห็นถึงความเพียรในหลายวาระ

และทรงปฏิบัติพระองค์ให้เห็นเป็นแบบอย่างผ่านทางโครงการพระราชดำริและสิ่ง ประดิษฐ์ของพระองค์ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละอย่างนั้นต้องอาศัยทั้งเวลาและความเพียรเพื่อฟันฝ่าอุปสรรค

“วันนี้เราทำยังไม่เห็นผล อย่าไปท้อ บอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผลพรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจได้ปีหน้า หรืออีกสองปี หรือสามปีข้างหน้า” พระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2516

ความรู้เกิดจากการศึกษา และต้องลงมือทำด้วยความเพียรและไม่ย่อท้อจนความรู้นั้นแตกฉาน และนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนในประเทศ นี่คือสิ่งที่ในหลวงทรงกระทำเป็นตัวอย่าง

5. อวิโรธนะ ความหนักแน่นเที่ยงธรรม

ทรงรักษาความเที่ยงธรรมและความไม่ยุติธรรมไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากความถูกต้อง ทั้งในพระราชจริยวัตรและพระราชวินิจฉัย ไม่เอียงเอนหวั่นไหว ไม่ยินดียินร้ายต่ออคติทั้งปวง ไม่ประพฤติผิดไปจากพระราชประเพณี

ในหลวงทรงเป็นนักค้นคว้า ไม่ว่าจะทรงกระทำสิ่งใดพระองค์จะต้องค้นคว้าจนรู้จริงรู้ลึก คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงนั้น คุณทองแดงมีความจงรักภักดีอยู่ใกล้เพื่อคอยถวายการดูแลความปลอดภัย และคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ การที่คุณทองแดงมีความกตัญญูต่อแม่มะลิ ที่ได้อาศัยนมกินมาตั้งแต่เข้าเฝ้าฯถวายตัว ในหลวงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวของคุณทองแดง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกตัญญู การไม่ลืมบุญคุณ ทรงเปรียบให้เห็นว่า “ผิดกับคนอื่น ที่เมื่อกลายเป็นคนสำคัญแล้วมักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณซึ่งเป็นคนที่ต่ำต้อย”ทุกครั้งที่ประเทศชาติเกิดวิกฤติ เกิดปัญหา คนไทยรู้ว่าที่สุดปัญหานั้นจะหมดไปปัญหานั้นจะได้รับปัดเป่า เพราะคนไทยมีในหลวง และในหลวงทรงมีคนไทยในพระราชหฤทัยเสมอมา


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : มงคลชีวิต จากทศพิธราชธรรม – พิมพ์ครั้งที่ 1, อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2557.
ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก : www.facebook.com
บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook