อดีต รมว.คลัง กังวล ซีพีผนึกอาลีบาบา อาจผูกขาด ระบบฟินเทคไทย
เมื่อวานนี้ (1 พ.ย. 59 )อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij แสดงความกังวลต่อความร่วมมือทางธุรกิจของ 2 เจ้าสัวยักษ์ใหญ่ของเอเชีย และ ของโลก อย่างซีพี และอาลีบาบา ว่า การร่วมมือของ 2 ยักษ์ใหญ่ จะเป็นการครอบงำและผูกขาดตลาดการบริการการเงินทั้งระบบ ไม่เปิดโอกาสให้ ฟินแทค (Fintech) ได้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาได้ พร้อมกับแนะให้ ภาครัฐดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้เกิดลักษณะปิดประตูตีแมวเกิดขึ้น ตามรายละเอียดดังนี้
ภาพนี้คนไทยเห็นอาจจะนึกถึงทั้งโอกาสและความน่ากลัว
ผมคุยกับน้องในแวดวง Fintech เขามีแนวคิดที่น่าสนใจครับ ว่า การจับมือระหว่าง 2 เจ้าสัวนี้ทำให้ 'เราสามารถจินตนาการเห็นลูกค้า True และลูกค้า Seven Eleven ใช้บริการทางการเงินทั้ง Online และ Offline ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฝากถอนเงินได้ที่เซเว่น, โอนต่อให้ใครก็ได้ทางแอพมือถือ, กู้เงิน Peer to peer ได้ทางมือถือ และจ่ายดอกเบี้ยได้ผ่านเซเว่น, บิลค่าใช้จ่ายไปเก็บรวมกับบิลมือถือทรู, ใช้ระบบ Seven Eleven เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องโลจิสติกส์เวลาซื้อขายของผ่าน Lazada ฯลฯ'
นี่คือความสะดวกของผู้ใช้บริการ แต่เมื่อเราแทบนึกไม่ออกว่าจะมีคู่แข่งคู่ไหนที่สามารถให้บริการในระดับเดียวกันได้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะนึกเป็นห่วงว่าการครองตลาดในระดับนี้จะมีผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการอื่นรวมไปถึงผลต่อการพัฒนา SME และนวัตกรรมโดยทั่วไปที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน
"ดังนั้นสิ่งที่เราอยากขอคือ อย่ากีดกันทางการค้าคนอื่น ให้โอกาสฟินเทคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในเครือ Alibaba หรือ CP เติบโตบ้าง และเติบโตไปด้วยกัน เช่น ถ้าจะใช้บริการฟินเทคที่สร้างขึ้นใหม่ ก็ให้คนใช้มือถือค่ายอื่นใช้ได้ด้วย จะจ่ายเงินด้วย e-wallet ที่เซเว่นก็ให้โอกาส e-wallet เจ้าอื่นเป็น payment gateway ได้บ้าง แล้วการแข่งขันจะทำให้ประเทศไทยรวมถึงกลุ่ม CP เองพัฒนาได้อีกเยอะครับ"
เรื่องแบบนี้ไม่มีประเทศใดที่เพียงแค่ฝากความหวังไว้ว่าผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จะใจกว้าง ทุกประเทศเขาใช้อำนาจรัฐและกฎหมายกำกับดูแลเพื่อให้การแข่งขันมีจริง รัฐเราต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ใครมาปิดประตูตีแมวในบ้านเราครับ
(แนวคิดจากการสนทนาและบทความของคุณเจษฎา สุขทิศ เลขาฯชมรมไทยฟินเทค)
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก facebook:Korn Chatikavanij