การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ (2)

การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ (2)

การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ (2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากตอนที่แล้วที่เราทิ้งท้ายว่า สำหรับคนที่หลวมตัวสร้างหนี้ไปแล้ว และอยากสะสาง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ยังมึนๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ตอนนี้นิมีคำแนะนำมาฝากค่ะ

1. รวบรวมหนี้

ต้องรู้ก่อนว่าเรามีหนี้อะไรบ้าง ยอดเท่าไหร่ ด้วยการทำลิสต์รายการหนี้สินที่มีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบ นอกระบบ หนี้มาก หนี้น้อย ต้องรวบรวมออกมาให้หมด


2. จัดระเบียบหนี้

โดยหนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
• หนี้ดี คือ หนี้ที่ทำให้เรามีความมั่งคั่งมากยิ่งขึ้น มีรายได้มากยิ่งขึ้น เช่น หนี้จากการทำธุรกิจ หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งทำให้เรามีรายได้จากการทำธุรกิจมากขึ้น มีสินทรัพย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน แต่การเป็นหนี้ที่ดีนั้น จะต้องไม่กระทบต่อเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายประจำวัน หรือที่เรียกว่า “สภาพคล่อง” และจะต้องพิจารณาว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้ได้จนหมด โดยไม่กระทบต่อเงินในกระเป๋าที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน

• หนี้เลว (ต้องตั้งชื่อให้ฟังดูแย่ไว้ก่อน เพื่อเป็นการเตือนสติว่าไม่ควรก่อหนี้กลุ่มนี้ขึ้นมา หรือถ้าก่อมาแล้วก็ต้องรีบกำจัดค่ะ) เกิดจากพฤติกรรมการใช้ หมายถึง หนี้เพื่อการอุปโภคและบริโภค เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใช้แล้วหมดไป เช่น เอาไปซื้อเสื้อผ้า โทรศัพท์ ทีวี เป็นต้น หนี้พวกนี้มักเป็นหนี้จากสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต ซึ่งปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้จากส่วนนี้

การแยกหนี้ออกเป็น 2 กลุ่มแบบนี้ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนค่ะว่า เราต้องจัดการกับหนี้กลุ่มไหนก่อน

3. ลำดับการชำระหนี้

นำหนี้ในข้อ 2 มาจัดลำดับอีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อนหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยปกติ เช่น ถ้ามีเงินที่ต้องชำระหนี้ในจำนวนจำกัด ควรเลือกชำระหนี้ดอกเบี้ยปกติด้วยจำนวนเงินขั้นต่ำ แล้วนำเงินที่เหลือทั้งหมดไปชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า เพื่อเป็นการตัดภาระออกไปให้ได้มากที่สุด และในระยะยาวถ้าสามารถทำได้ให้กู้เงินจากแหล่งเงินที่มีดอกเบี้ยต่ำมาปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง


4. ไม่เพิ่มหนี้

ในระหว่างทยอยกำจัดหนี้เก่า ท่องให้ขึ้นใจว่า จะไม่ต้องสร้างหนี้ใหม่ด้วยนะคะ และจะยิ่งดีกว่านั้น ถ้าสามารถงดรายจ่ายฟุ่มเฟือยทั้งหมด แล้วนำเงินที่เคยใช้ในส่วนนี้ไปจ่ายชำระหนี้ ก็จะทำให้หนี้หมดเร็วขึ้น ซึ่งถ้าจะให้ดีที่สุด คุณต้องหาความฝันและเป้าหมายในชีวิตให้เจอ เพราะถ้าคุณมีฝัน และมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากพอ คุณจะรู้ได้เลยทันทีว่าการปลดหนี้ และการเก็บเงินให้ได้นั้น จะไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถอีกต่อไป

 

5. อย่าผิดนัดการชำระหนี้

การชำระหนี้ล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดไว้ อาจทำให้เราโดนค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง และทำให้มูลนี้เพิ่มขึ้นโดยเราไม่รู้ตัวก็เป็นได้


6. ชำระหนี้ให้ครบถ้วน

แม้เราจะชำระหนี้ทันตามกำหนดเวลา แต่ถ้าชำระไม่ครบถ้วนตามจำนวนขั้นต่ำที่ระบุไว้ เราก็ยังต้องเสียค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ดังนั้นต้องหาเงินมาชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ด้วยนะคะ


สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงินได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ

ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ และ ‘รวยทะลุเป้า’

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook