บิ๊กแดงเข้ม ! แก้ปัญหาสลากเกินราคา ทำสัญญาใหม่ทุก 6 เดือน
ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลงข่าวเน้นมาตรการเข้มข้นแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา คัดกรองผู้ที่จำหน่ายสลากจริง โดยการทำสัญญาใหม่ทุกๆ 6 เดือน
พลโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาสลากมีราคาแพง มีสาเหตุจากผู้ที่ได้รับสลากบางส่วนไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสลากรายย่อยที่แท้จริง จึงนำสลากได้รับการจัดสรรสลาก ทั้งจากระบบโควตาเดิมและจากโครงการซื้อ-จองสลากผ่านธนาคารกรุงไทย ไปขายช่วงต่อให้กับนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อสลากจากผู้ค้ารายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนการถือครองสลากมากถึง 85% ของจำนวนสลากทั้งหมด แล้วนำไปรวมชุดจำหน่ายในราคาแพงมาก
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดย คัดกรองผู้ที่จำหน่ายสลากจริง โดยการทำสัญญาใหม่ทุกๆ 6 เดือน การทำสัญญาครั้งต่อไปจะดำเนินการระหว่างวันที่ 19 – 25 พฤศจิกายน 2559 (อายุสัญญา 16 ธันวาคม 2559 – 1 มิถุนายน 2560) ได้มีการปรับข้อความในสัญญาให้รัดกุมขึ้น ทำให้สามารถตรวจสอบสลากที่จำหน่ายบนแผงจำหน่ายสลากได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น
“หากตรวจพบว่าสลากของตนไปวางไว้เพื่อเตรียมจำหน่ายที่จุดจำหน่ายของผู้อื่นที่ระบุไว้ในข้อที่ 11 ให้สันนิษฐานว่าผู้นั้นไม่ได้ขายสลากด้วยตนเองและถือว่าผู้ขายผิดสัญญา” และ “ตัวแทนจำหน่ายสลากยินยอมให้ความสะดวกและความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ในการตรวจสอบสถานที่จำหน่ายของตัวแทน หากไม่ให้ความร่วมมือให้ถือว่าตัวแทนประพฤติผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเป็นตัวแทนจำหน่ายและให้สำนักงานฯ พิจารณาบอกเลิกสัญญาได้ทันที”
หลังจากการทำสัญญา สำนักงานฯ จะทำการลงพื้นที่ตรวจสอบโดยผู้ตรวจการของสำนักงานฯ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในพื้นที่ต่างๆ สำหรับสลากที่ถูกยกเลิกสัญญา จะนำมาเข้าสู่โครงการซื้อ – จองล่วงหน้าฯ เพื่อให้ผู้จำหน่ายจริงได้มีโอกาสเข้าถึงสลากได้มากขึ้น
ประธานกรรมการสลากฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การจำหน่ายสลากเกินราคาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น พบว่ามีการนำสลากมารวมชุดเพื่อจำหน่ายสูงเกินราคาที่กำหนด 80 บาท ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้จำหน่ายสลากเกินราคาถูกจับกุมแล้วรวมทั้งสิ้น 745 ราย ในจำนวนนี้มีตัวแทนจำหน่ายถูกยกเลิกสัญญา 153 ราย และถูกตัดสิทธิ์จากโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าฯ 57 ราย ในระหว่างวันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 ได้จับกุมผู้ที่จำหน่ายสลากเกินราคา จำนวนทั้งสิ้น 592 ราย โดยผู้ถูกจับกุมทั้งหมดถูกดำเนินคดี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือปรับรายละไม่เกิน 10,000 บาท และหากเป็นตัวแทนจำหน่ายจะถูกยกเลิกสัญญาทันที พร้อมทั้งขึ้นบัญชีรายชื่อ (Black list) ไม่ทำสัญญาในครั้งต่อไป สำหรับผู้ที่ซื้อ-จองล่วงหน้า ก็จะถูกตัดสิทธิ์การลงทะเบียนทันที
จากการที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ค้าสลากทั่วทุกภูมิภาค สำนักงาน ฯ จึงได้ดำเนินโครงการซื้อ-จองสลากล่วงหน้าผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารกรุงไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ขายสลาก ได้แก่
- ผู้ขาย สามารถซื้อสลากได้โดยตรงอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ยุติธรรม ในราคาส่วนลดที่กระทรวงการคลังกำหนด (โครงการซื้อ-จองฯ เปิดโอกาสให้ลงทะเบียนได้อย่างกว้างขวาง แม้แต่ผู้ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายฯ ก็สามารถลงทะเบียนได้ โดยได้รับส่วนลดจากการจำหน่ายในอัตราเดียวกับตัวแทนจำหน่ายรายย่อย)
- การซื้อสลากไปจำหน่ายเป็นไปตามความต้องการ และความสามารถในการขายแต่ละงวด ตามจำนวนที่กำหนดได้เอง ไม่มีสัญญาผูกพัน (ไม่จำเป็นทำรายการทุกงวด อยากขายงวดไหนก็มาทำรายการ สร้างความ พึงพอใจให้กับผู้ขายจริง เนื่องจากทำให้มีโอกาสเข้าถึงสลาก และการที่สำนักงานฯ กำหนดให้ทำรายการได้รายละ 5 เล่ม ทำให้สลากมีการกระจาย และเปิดโอกาสให้เข้าถึงมากขึ้น
- การรับสลาก ณ พื้นที่ที่ผู้ขายกำหนด (ตามที่ทำการไปรษณีย์ที่สะดวก จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง)
ซึ่งโครงการนี้สามารถแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาได้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากกลไกของการดำเนินการ จะช่วยค้นหาจำนวนปริมาณสลากและจำนวนผู้ค้าสลากที่แท้จริงได้ (จากจำนวนผู้พร้อมที่จะทำรายการซื้อ-จอง ที่โอนเงินเข้ามาก่อนการทำรายการในแต่ละครั้งกว่า 99,000 ราย จาก 172,000 ราย) อีกทั้งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 27 ครั้ง ได้รับความสนใจจากผู้ขายสลาก ที่มาลงทะเบียนร่วมโครงการกว่า 172,000 ราย ในแต่ละครั้งที่ทำการซื้อ-จองล่วงหน้าฯ มีผู้ที่พร้อมทำรายการครั้งละกว่า 99,000 ราย มีผู้ได้รับสลากไปจำหน่ายจากโครงการนี้ งวดละ กว่า 67,000 ราย โครงการซื้อ-จองล่วงหน้าฯ สามารถสะท้อนปริมาณสลากที่ควรจะมีจำหน่ายในตลาดที่แท้จริง และจำนวนผู้ขายจริงได้ หลังจากนั้น สำนักงานฯ จะก้าวเข้าสู่ Road Map ระยะที่ 3 คือ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อไป
พันตำรวจเอกบุญส่ง จันทรีศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้กล่าวถึง มาตรการในการแก้ไขปัญหาสลากรวมชุดว่า สำนักงานฯ ได้ปรับวันจ่ายสลากจองที่ไปรษณีย์ปลายทางจากเดิม วันที่ 2 และวันที่ 17 ของเดือน เปลี่ยนเป็นวันที่ 7 และ 22 ของเดือน ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ในการจำหน่ายสลากของตลาด วังสะพุง ทั้งนี้ เพื่อทำให้ยี่ปั๊วไม่มีเวลาในการนำสลากจองไปรวมชุด ซึ่งจะส่งผล ให้ผู้ค้ารายย่อยที่แท้จริง สามารถทำรายการสลากจองล่วงหน้าได้มากขึ้น และคาดว่า ผลที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคานั้น จะทำให้สามารถตัดวงจรนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อสลากออกไปจากตลาด ทำให้การรวมชุดสลากลดลงหรือหมดไป รวมถึงได้คัดกรองผู้ค้าสลากรายย่อยที่แท้จริง ส่งผลให้สามารถจำหน่ายสลากได้ในราคาที่กำหนด คือ 80 บาท