กอช.ประกาศขอเป็นเสาหลักการออม ชูสโลแกน "ออมสบาย ได้บำนาญ"
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ประกาศวิสัยทัศน์ การเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันบำนาญพื้นฐานให้แก่สมาชิก พร้อมเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2560-2564) มุ่งผลักดันและสร้างสมาชิกการออมต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ชูสโลแกน ‘กอช. ออมสบาย ได้บำนาญ’
นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์ และกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์กองทุนการออมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่กองทุนการออมแห่งชาติเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. วิสัยทัศน์ (Vision) ของ กอช. คือ “เป็นหนึ่งในเสาหลักที่ส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันบำนาญพื้นฐานให้แก่สมาชิก” โดยพิจารณาเห็นว่า กอช. คือแหล่งเงินออมที่มอบประโยชน์เป็นบำนาญระยะยาวเพื่อใช้ในการยังชีพ เปรียบเหมือนข้าวสวยใน ‘ปิ่นโตเถาแรก’
2. พันธกิจ (Mission) 4 ด้าน คือ
2.1 สนับสนุนและส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เป็นภารกิจสำคัญที่ กอช. จะเร่งขยายฐานจำนวนสมาชิกและผลักดันให้สมาชิกมีวินัยการออม ที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการออมที่ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของการออม และจูงใจให้เกิดการตัดสินใจสมัครสมาชิกพร้อมออมเงินอย่างต่อเนื่อง
2.2 เป็นหลักประกันการจ่ายผลตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอีกด้านของกองทุนในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดเพื่อเพิ่มมูลค่าเงินออมของสมาชิกให้เติบโตต่อเนื่อง
2.3 ให้บริการสมาชิกอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยการพัฒนาระบบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสนับสนุนภาคีเครือข่ายการออม เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการทั้งบนระบบออนไลน์และ การเพิ่มจุดบริการที่กว้างขวางกระจายทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจแก่ประชาชนผู้ใช้บริการได้มากขึ้น
2.4 พัฒนาองค์กรให้มีการบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้มี ความทันสมัย สะดวก โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
3. ยุทธศาสตร์ (Strategy) 4 ด้าน คณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ กอช. (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินงานของกองทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1) ผลักดันและสร้างสมาชิกการออมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 2) บริหารเงินทุนให้เกิดผลประโยชน์อย่างมั่นคง
ยุทธศาสตร์ที่ 3) พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4) ส่งเสริมการมีธรรมาภิบาลในองค์กร
ทั้งนี้ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของกองทุน มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานไปพร้อมกันทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการหาสมาชิก ด้านการสร้างผลตอบแทน ด้านการให้บริการที่เป็นเลิศ และด้านการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล โดยคณะกรรมการ กอช. มีนโยบายชัดเจนที่จะเน้นการปลูกฝังแนวคิด การออมเพื่อความพอเพียงในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และประชาชนในท้องถิ่นภูมิภาค ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงมาตรการส่งเสริมการมีรายได้ที่เพียงพอเมื่อถึงวัยที่ไม่มีแรงทำงานหาเลี้ยงชีพ ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุได้ต่อไปในระยะยาว
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่ง กอช. จะถ่ายทอดกลยุทธ์สู่ การปฏิบัติโดยได้มีการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ก่อนที่จะกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการของแต่ละกลยุทธ์ ซึ่งที่ผ่านมา กอช. ได้รับเอาข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น จากผู้เกี่ยวข้อง ทุกระดับ ทุกฝ่าย มาประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการ ทั้งที่เป็นข้อเสนอแนะของผู้เกี่ยวข้องระดับนโยบาย ผู้ที่เป็นสมาชิกปัจจุบัน
ผู้สนใจที่ตัดสินใจสมัครสมาชิก ธนาคารหน่วยรับสมัคร ตลอดจนภาคีเครือข่ายสนับสนุนภารกิจส่งเสริมการออม โดยสามารถแบ่งแผนการดำเนินงานหลังจากนี้ออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกจะเป็นแผนงานที่สามารถปฏิบัติการได้เลยทันที และส่วนที่ 2 เป็นแผนงานระยะต่อไปที่จะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองตามลำดับขั้นตอนและขอบเขตอำนาจหน้าที่
สำหรับภารกิจที่สามารถดำเนินการได้ทันทีใน 1 ปีข้างหน้านั้น กอช. ได้กำหนดแผนกลยุทธ์การดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน โดยมุ่งเน้นการสื่อสารเชิงรุก ควบคู่ไปกับการสร้างภาคีเครือข่ายการออมที่มีประสิทธิภาพ เน้นภารกิจการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมผลักดันให้ประชาชนมีการออมเพื่อการชราภาพ
นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งพัฒนาระบบ การให้บริการสมาชิกและประชาชนในหลากหลายมิติ อาทิ การเข้าร่วมในโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) การจัดให้มีบริการออนไลน์ตรวจสอบสถานะสมาชิก บนเว็บไซต์ บริการตัดบัญชีเงินฝากนำส่งเงินสะสมเข้ากองทุน การจัดทำ Mobile Application การเพิ่ม หน่วยรับสมัครสมาชิกและช่องทางนำส่งเงินสะสม การมอบหมายสถาบันการเงินชุมชนเป็นหน่วยบริการประชาชนในเรื่อง กอช. รวมถึงการออกแบบจัดทำหลักฐานประจำตัวผู้เป็นสมาชิก เป็นต้น
ที่สำคัญคือแผนการยกระดับการสื่อสาร 2 ทางเพื่อให้สมาชิกและประชาชนสามารถติดต่อสื่อสาร รับข้อมูล และแจ้งปัญหาความต้องการ กับทีมงานของ กอช. ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ผ่านช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย
ซึ่ง กอช. จะได้นำข้อมูลที่ได้รับไม่ว่าจะเป็นข้อมูลความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ด้านสิทธิประโยชน์ หรือด้าน การบริการ นำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของ กอช. เพื่อให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจสูงสุดจาก การเป็นสมาชิก กอช. ดังสโลแกนที่ว่า “กอช. ออมสบาย ได้บำนาญ” นายสมพรกล่าว.