สารพัดวิธีลดหย่อนภาษีของมนุษย์เงินเดือน (1)

สารพัดวิธีลดหย่อนภาษีของมนุษย์เงินเดือน (1)

สารพัดวิธีลดหย่อนภาษีของมนุษย์เงินเดือน (1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีวลีของฝรั่งอยู่ประโยคหนึ่งที่ว่า ‘In this world, nothing is certain but death and taxes.’ซึ่งแปลว่า ‘โลกนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอนเท่าความตาย และ การจ่ายภาษี’ ฟังดูแล้วท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรกับประโยคดังกล่าวคะ แล้วเห็นด้วยหรือไม่คะว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การจ่ายภาษีก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่แน่นอนที่สุดที่เราต้องจ่ายในฐานะพลเมืองดี


‘ภาษี’ แค่ได้ยินคำนี้หลายคนก็ทำหน้าเบ้ ไม่อยากจะได้ยินซะแล้ว ทั้งๆ ที่ช่วงเดือนมีนาคมเราก็ทำหน้าที่พลเมืองดีจ่ายภาษีกันมาทุกปี แต่จนแล้วจนรอดภาษีก็ยังทำให้เราปวดหัวอยู่ร่ำไป แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เราปวดหัวกับเรื่องนี้กันดีคะ คำตอบคือ เราก็ต้องมาวางแผนภาษีกันค่ะ


‘การวางแผนภาษี’ คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วนในฐานะพลเมืองดี และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ

เมื่อเสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ขาดไม่เกิน ก็เท่ากับว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้ส่วนหนึ่ง และยิ่งถ้าคุณวางแผนภาษีเป็นอย่างดี ตัวเงินที่ประหยัดขึ้นมา ขี้คร้านจะทำให้คุณตาโต เพราะได้เงินคืนภาษีจำนวนไม่น้อย ซึ่งภาษีได้กลับมานี้เราอาจนำไปต่อยอด ไปลงทุนให้ออกดอกออกผลสร้างเงินกลับมาให้เราต่อได้อีกค่ะ


ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราจะต้องเสีย และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า โดยหลักในการวางแผนภาษี คือ รู้ประเภทของรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนเพื่อลดภาษี รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษีค่ะ


การวางแผนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรเลยค่ะ ขอเพียงแต่เราได้เริ่มลงมือทำ และเมื่อวางระบบเริ่มต้นได้แล้ว ปีต่อๆ มาก็เพียงทบทวนบ้าง เพื่อไม่ให้เสียโอกาสดีๆ ในการประหยัดเงินในกระเป๋าเราได้ค่ะ ซึ่งเรื่องต้องรู้เพื่อให้การวางแผนภาษีเกิดประโยชน์สูงสุด มีดังนี้ค่ะ


• รู้และเข้าใจกฎ ข้อบังคับแนวปฏิบัติทางภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเสียภาษีไม่ถูกต้อง
• รู้จักการจัดการและจัดเก็บข้อมูลภาษีของตัวเอง ทั้งการเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายได้ เอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่าย เอกสารการลงทุน กรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นต้น การทำสรุปข้อมูลเหล่านี้ทุกเดือนจะช่วยให้เรารู้ล่วงหน้า ว่าเราจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมหรือจะประหยัดภาษีได้ประมาณเท่าไรซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนภาษีได้ค่ะ
• รู้จักใช้ประโยชน์จากมาตรการที่จะช่วยลดภาระภาษีที่ทางภาครัฐกำหนดให้ เช่น การทำประกันชีวิต การลงทุนระยะยาว เป็นต้น

ซึ่งสำหรับตอนหน้า เราจะมาพูดคุยกันถึงตัวช่วยประหยัดภาษีกันค่ะ โปรดติดตาม
สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงินได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ

ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ และ ‘รวยทะลุเป้า’

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook