เปิดเหตุผล “เจริญ” ซื้อหุ้นอมรินทร์ทีวี ได้กำไร 620 ล้าน หวังผลต่อยอดธุรกิจ

เปิดเหตุผล “เจริญ” ซื้อหุ้นอมรินทร์ทีวี ได้กำไร 620 ล้าน หวังผลต่อยอดธุรกิจ

เปิดเหตุผล “เจริญ” ซื้อหุ้นอมรินทร์ทีวี ได้กำไร 620 ล้าน หวังผลต่อยอดธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การประกาศเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น หรือ 427.62% ในราคาหุ้นละ4.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 850 ล้านบาท เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้กับบริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี 2 ทายาทของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจชื่อดังหลายเเขนงเเละมหาเศรษฐีเมืองไทย ของบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ AMARIN โดยให้เหตุผลว่า

เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิทัล ได้แก่ อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงและต้องชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลรายเดือน รวมถึงชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินงาน เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ ฯลฯถือเป็นการประกาศเข้าต่อสู้ในสนามทีวีดิจิทัลอีกครั้ง

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิตอลทีวีบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องเวิร์คพอยท์ทีวี กล่าวว่า การประกาศเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของ AMARIN ในครั้งนี้มองว่าถือเป็นการเพิ่มเงินเข้าไปเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ หลังจากทีวีดิจิทัลเริ่มมาได้ 2 ปี แต่ผลประกอบการยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

รูปแบบการเพิ่มทุนของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลนั้น ในอนาคตจะเริ่มมีให้เห็นอีกหลายบริษัทเพื่อรองรับการแข่งขันอีกทั้งยังใช้เป็นเม็ดเงินลงทุนในการสร้างคอนเทนต์ต่างๆ โดยปัจจุบันช่องวาไรตีใช้งบลงทุน600-1,000 ล้านบาทต่อปี หรือหากในกรณีที่เป็นรายใหญ่มีความครบวงจร ทั้งสตูดิโอถ่ายทำทีมงานอยู่แล้วงบประมาณอาจจะอยู่ที่ 230-600 ล้านบาท

“อนาคตยังมีอีกอีกหลายรายในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ต้องการเพิ่มทุนเข้าไปในธุรกิจ ซึ่งแต่ละรายก็จะมีรูปแบบหรือวิธีการเพิ่มทุนที่ต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะมีทั้งการเข้ามาถือหุ้นโดยธนาคาร เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมองว่ากลุ่มผู้ที่เข้ามาเพิ่มทุนหรือลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลเพิ่มเติมในอนาคตนั้นย่อมได้ประโยชน์จากการทำธุรกิจตรงนี้ในหลายทางแน่นอน ซึ่งในกรณีของอมรินทร์นั้นมีทั้งธุรกิจโรงพิมพ์ มีร้านหนังสือ และมีอีเวนต์ อยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตามในส่วนของแผนงานบริษัทในปีหน้า จะให้ความสำคัญกับการสร้างคอนเทนต์ที่มีข้ามแพลตฟอร์มหรือการนำรายการของบริษัทออกอากาศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากทีวีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือในช่องทางไลน์ทีวี เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค

ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดียแอนด์บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี แสดงความคิดเห็นว่า เชื่อว่าในปี 2560 บริบทของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลจะเปลี่ยนไป หลังจากที่ผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้อยู่ ต่างเผชิญกับปัญหาซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยได้แก่ปัจจัยภายใน ได้แก่ นโยบาย, วิชั่นขององค์กร , บุคลากร , เทคโนโลยี , คอนเทนต์ และเงินทุน อีกปัจจัยคือปัจจัยภายนอก ได้แก่ กฎหมาย , เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และผู้บริโภคหรือผู้ชม

“ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุน ขณะเดียวกันต้องบริหารจัดการด้วยครีเอทีฟสูง แต่เงินทุนต่ำ และยังต้องเติมเงินเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลเพราะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุกวัน แต่อาจไม่ได้เงินทุกวัน ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์หรืออยู่ในธุรกิจนี้มาก่อนจะได้เปรียบ แตกต่างจากช่องใหม่ เงินลงทุนใหม่ ซึ่งในปีหน้าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ยังจะเน้นแข่งขันกันที่คนและคอนเทนต์เป็นหลัก”

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ AGB Nielsen พบว่าเรตติ้งของช่องอมรินทร์ทีวี ขยับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายน 2558 มีเรตติ้ง 0.104 อยู่ในอันดับที่ 16 เดือนพฤษภาคม 2559 มีเรตติ้ง 0.133 อยู่ในอันดับที่ 14 และเดือนกันยายน 2559 มีเรตติ้ง 0.240 อยู่ในอันดับที่ 10 และมีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น จากรายการต่างๆที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอาทิ ทุบโต๊ะข่าว ต่างคนต่างคิด ตามอำเภอจาน เป็นต้น

การซื้อหุ้นอมรินทร์ในราคาหุ้นละ 4.25บาท ต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ที่ 7.35บาท ทำให้กลุ่มนายเจริญมีกำไรทันที 620 ล้านบาท จากการซื้อหุ้นครั้งนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook