อาชีพเสริมที่ดี ต้อง “ทำซ้ำ” และ “ขยายขนาด” ได้

อาชีพเสริมที่ดี ต้อง “ทำซ้ำ” และ “ขยายขนาด” ได้

อาชีพเสริมที่ดี ต้อง “ทำซ้ำ” และ “ขยายขนาด” ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ที่ทำอาชีพเสริมควบคู่ไปกับงานประจำย่อมเข้าใจดีว่า “เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่า การจะเจียดเวลามาหารายได้นอกเหนือจากเงินเดือนก็มักทำได้เฉพาะช่วงหลังเลิกงานและวันหยุดเท่านั้น ความท้าทายประการหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้เวลาที่มีอยู่จำกัดสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้มากที่สุด ดังนั้น การเลือกอาชีพเสริมที่ดีไม่ใช่แค่มีใจรักในสิ่งที่ทำเท่านั้น แต่จำเป็นต้อง “ออกแบบ” ให้อาชีพเสริมที่เลือกไว้เติบโตได้เป็นอย่างดี


ช่วงนี้ผมมีโอกาสคลุกคลีกับธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) มากเป็นพิเศษ และเห็นว่าแนวคิดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนทำอาชีพเสริมด้วย สตาร์อัพไม่ใช่คำเรียกเก๋ๆ สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจทั่วไปประเภทเปิดร้านขายของ ซึ่งมักจะเน้นไปที่คุณภาพของตัวสินค้าและบริการเป็นหลัก แต่สตาร์ทอัพจะเริ่มต้นจากปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งภาษาเทคนิคเรียกว่า pain ซึ่งหมายถึงความไม่สะดวกหรือความอึดอัดในการดำรงชีวิตประจำวัน แล้วคิดค้นรูปแบบการแก้ปัญหา โดยเชื่อว่าหากสำเร็จก็จะทำให้กิจการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว


สตีฟ แบลงค์ (Steve Blank) ได้นิยามสตาร์ทอัพว่าเป็น องค์กรชั่วคราวที่มุ่งแสวงหารูปแบบธุรกิจที่ทำซ้ำได้และขยายขนาดได้ คำว่าองค์กรชั่วคราวหมายถึง การที่บุคคลหรือนิติบุคคลมาร่วมกันทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายแล้วก็สลายตัวไป แบลงค์ชี้ชัดว่าสิ่งที่ร่วมกันทำก็คือการแสวงหารูปแบบธุรกิจ เหตุที่ต้องแสวงหาก็เพราะสตาร์ทอัพพุ่งเป้าไปที่การกระบวนการแก้ปัญหาที่ยังไม่มีใครแตะ ดังนั้น สิ่งที่ทำมักเป็นการนำเสนอไอเดียใหม่ แต่ไอเดียนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำได้จริง จึงต้องทำการทดลองปรับแก้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นว่ามีโอกาสสร้างมูลค่า แล้วจึงอัดฉีดทรัพยากรต่างๆ เพื่อเร่งให้เติบโตอย่างรวดเร็ว


ตามมุมมองของแบลงค์ รูปแบบธุรกิจที่จะเติบโตได้ต้องมีองค์ประกอบ 2 เรื่องคือ การทำซ้ำและการขยายขนาด

การทำซ้ำ (repeatable) หมายถึงรูปแบบกิจการที่สามารถสร้างรายได้จากการที่ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ เช่น มือถืออย่าง iPhone หรือ Samsung ที่ออกรุ่นใหม่มาเรื่อยๆ ด้วยการเพิ่มเติมฟังก์ชั่นใหม่ เพื่อให้ลูกค้าที่เคยซื้อไปแล้วกลับมาซื้ออีก หรือ Amazon ที่ใช้การประมวลผลจากการค้นหาหนังสือของเรา นำเสนอหนังสือในกลุ่มเดียวกันเพื่อกระตุ้นให้เราตัดสินใจซื้ออีกอย่างง่ายดาย เป็นต้น ขณะที่การขายรถยนต์หรือการขายบ้านมักเป็นการขายครั้งเดียวจบ ยากที่ลูกค้ารายเดิมจะกลับมาซื้อซ้ำภายในเวลาอันสั้น


การขยายขนาด (scalable) หมายถึงรูปแบบกิจการที่สามารถในการรองรับลูกค้าปริมาณมากได้ เช่น Facebook หรือ LINE ที่ใช้แพลตฟอร์มเดียวกันให้บริการลูกค้าได้ทั่วโลก ขณะที่ร้านอาหารตามตึกแถวมักให้บริการได้เฉพาะลูกค้าในละแวกท้องถิ่นเท่านั้น

แล้วอาชีพเสริมที่เรากำลังทำอยู่ล่ะ สามารถทำซ้ำและขยายขนาดได้มากน้อยแค่ไหน? อาชีพเสริมที่ต้องใช้ทักษะส่วนตัว เช่น ติวเตอร์ ครูสอนดนตรี กีฬา เป็นรูปแบบที่ทำซ้ำได้ เนื่องจากไม่ได้สอนแค่ครั้งเดียวจบแต่เป็นการขายคอร์สสอนไปทีละขั้น กล่าวคือลูกค้าเป้าหมายจะจ่ายเงินให้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังคงพึงพอใจในคุณภาพการสอน แต่อาชีพเสริมแบบนี้มีข้อจำกัดเรื่องการขยายขนาด เนื่องจากรายได้จะจำกัดด้วยจำนวนชั่วโมงที่ตนเองจะสอนได้เท่านั้น หรืออาชีพเสริมแบบผลิตเพื่อขาย เช่น งานฝีมือ หรือขนมต่างๆ ก็จะถูกจำกัดด้วยปริมาณการผลิตที่ตนเองหรือเตาอบแต่ละตัวจะทำได้ต่อวัน โดยรวมแล้วศักยภาพการสร้างรายได้ไม่สามารถเติบโตได้เกินตัว

อาชีพเสริมอย่างการขายของออนไลน์นั้น หากออกแบบไม่ดีก็จะพบปัญหาเรื่องการขยายขนาดด้วย เช่นในกรณีที่ทำเองคนเดียวจะพบว่าตนเองสามารถรับคำสั่งซื้อได้ไม่เกินจำนวนหนึ่งในแต่ละวัน เพราะต้องใช้เวลากับการคุยกับลูกค้า แพ็คของ ส่งไปรษณีย์ แต่หากเปลี่ยนมาใช้ระบบร้านค้าออนไลน์ในการจัดการคำสั่งซื้อ และใช้บริการคลังสินค้าออนไลน์ในการส่งแทน ก็สามารถช่วยรองรับคำสั่งซื้อเพิ่มได้ หรือหากจะปรับรูปแบบธุรกิจโดยเน้นขายผ่านตัวแทนมากกว่าขายตรงให้ลูกค้ารายย่อย ก็จะช่วยให้ขยายขนาดกิจการได้มากกว่าเดิม

แม้อาชีพเสริมจะดูเป็นแค่แหล่งรายได้ส่วนเพิ่มเติม แต่หากนำมุมมองของสตาร์ทอัพมาประยุกต์ใช้ ก็เชื่อว่าจะทำให้เวลาอันจำกัดนี้ทำเงินได้มากขึ้นกว่าเดิม ได้ทั้งความสุขและได้ทั้งเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะแซงหน้ารายได้หลักจากเงินเดือน คิดแล้วก็น่าสนุกดีนะครับ

โดย : ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ PhD
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

www.k-expert.askkbank.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook