คลังโยน 7 หมื่นล้าน ให้ประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาล ขรก. เริ่ม ต.ค. 60
วันที่ 8 ธ.ค. 59 – นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) แถลงคัดค้าน กรณีกระทรวงการคลังเตรียมให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาบริหารจัดการงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ แทนกรมบัญชีกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณกว่าปีละ 70,000 ล้านบาท ที่คาดกว่า จะเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 หรือปีงบประมาณ 2561 โดยกรณีดังกล่าวแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และจากประสบการณ์พบว่า การเบิกจ่ายเงินจากเอกชนนั้น ทำได้ค่อนข้างยากและช้า เช่น การเบิกจาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ที่สุดท้ายต้องไปเบิกจากสิทธิ์อื่น ๆ แทน
กรณีดังกล่าวนอกจากจะกระทบผู้มีสิทธิ์แล้ว ยังกระทบต่อโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ที่ขาดสภาพคล่อง ที่อาจต้องปิดตัวใน 2 ปี หรือเร็วกว่านั้น รวมถึงมีเรื่องของค่าบริหารจัดการของเอกชนที่ขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 40 ซึ่งหมายความว่า งบประมาณ 70,000 ล้าน จะมีเงินหายไป 7,200 ล้าน หรือมากกว่านั้น แทนที่จะนำไปหมุนเวียนในโรงพยาบาลของรัฐ
ดังนั้น ตนจึงอยากเรียกร้องให้ข้าราชการทุกคนที่มีสิทธิออกมาคัดค้าน แสดงจุดยืนเพื่อรักษาผลประโยชน์ และไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วยในระบบสวัสดิการอื่น ๆ
ทั้งนี้ สำหรับกรณีการให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการมาจาก 2 เหตุผล คือ
1.กรมบัญชีกลาง พบว่า ในแต่ละปีวงเงินค่าใช้จ่ายกองทุนงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2549 มีการเบิกจ่ายอยู่ที่ 37,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2556 มียอดเบิกจ่ายจริงอยู่ที่ 62,000 ล้านบาท, ปี 2558 มียอดเบิกจ่ายจริงอยู่ที่ 66,476 ล้านบาท และปี 2559 มียอดเบิกจ่ายจริงอยู่ที่ 71,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังความเสี่ยงจากการทุจริตต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจ่ายยาจำนวนมาก หรือกรณียาถูกนำไปขายต่อ ซึ่งแต่ละปีพบ ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการกว่า 60,000 ล้านบาท เป็นค่ายากว่า 30,000 ล้านบาท
2.จากกรณีที่โครงสร้างประชากรไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องดูแลข้าราชการ 2,000,000 คน และผู้อาศัยสิทธิอีก 4,000,000 คน ทั้งเด็ก คนชรา และข้าราชการเกษียณ รวมทั้งหมด 6,000,000 คน
ดังนั้น กรมบัญชีกลางมีแนวคิดให้เอกชนเข้าบริหารวงเงินในกองทุนดังกล่าวแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเมื่อเงื่อนไข งบประมาณปีละไม่เกิน 70,000 ล้านบาท และต้องไม่กระทบกับสิทธิและสวัสดิการเดิม ที่ข้าราชการและครอบครัวเคยได้รับ โดยคาดว่า หาก ครม. อนุมัติตามหลักการจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 หรือปีงบประมาณ 2561
ก่อนหน้านึ้ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเเละอดีตปลัดกระทรงงสาธารณสุข เคยเเสดงความเห็นค้านกับเรื่องนึ้ไว้ มีรายละเอียดว่า อยากสะกิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังจะตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เรื่องการส่งมอบเงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว 67,000 ล้านต่อปี ไปให้บริษัทเอกชนบริหาร บนความเชื่อที่ว่าข้าราชการและครอบครัวจะไม่เสียสิทธิใด ๆ เงินงบประมาณจะไม่สูงขึ้นจนคุมไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่ ผมอยากเรียนโดยสรุปว่า
“เหตุที่งบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวสูงขึ้น ๆ เป็นเพราะความผิดพลาดทางการบริหารของกรมบัญชีกลางเอง หากบริษัทเอกชนบริหารสิทธิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวจะถูกลดลงในวงเงินที่รัฐจ่ายเท่าเดิม เพราะจะถูกหักเป็นค่าบริหารและกำไรของบริษัทเอกชน ตัวอย่างที่ประจักษ์ คือ สิทธิผู้ควรได้รับการรักษาตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ 2535 ข้าราชการเกษียรจะรับเคราะห์กรรมหนัก เพราะต้องการบริการมากขึ้นตามวัย โรงพยาบาลระดับต่าง ๆ จะล้มละลาย เพราะถูกปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาด้วยเล่ห์กลต่าง ๆ วิกฤติการสาธารณสุขและความไม่สงบจะเกิดขึ้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ฉะนั้น รัฐบาลเองควรกลับมาทบทวนใหม่ ข้าราชการและครอบครัวโดยเฉพาะสมาคมข้าราชการพลเรือนต้องออกมาปกป้องสิทธิที่จะเสียไป โรงพยาบาลรัฐทุกระดับจะคอยให้ล้มละลายก่อนแล้วค่อยออกมาโวยคงไม่มีประโยชน์ต่อผู้รับบริการทั่วไปรวมทั้งประชาชนผู้ใช้บัตรทอง อยากเสนอให้ท่านนายกฯ ประยุทธ์ มอบงบประมาณการรักษาตามสิทธิข้าราชการ 67,000 ล้านบาท ไปให้ สปสช. เอาไปบริหาร ความสำเร็จประจักษ์แล้วจากการบริหารงบประมาณตามสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชข้าราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น การแสดงความเห็นครั้งนี้เพราะผมวิตกกังวล ห่วงใย ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์คงให้ความสำคัญบ้างนะครับ”