ดัชนีเชื่อมั่นทอง เดือนธ.ค.ทรุด คาดราคาอยู่ในกรอบ 18,500 -21,000 บาท
ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือน ธ.ค. 2559 ปรับตัวลดลง 29.84 จุด จากระดับ 60.24 จุด หรือลดลง 49.53% แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าราคาทองในเดือนสุดท้ายของปีมีแนวโน้มลดลง โดยมีปัจจัยกดดันหลัก คือ ทิศทางนโยบายทางการเงินของ FED ด้านแบบสำรวจผู้ค้ารายใหญ่เชื่อ กรอบราคาทองคำโลกน่าจะแกว่งตัวลดลงมาในระดับ 1,120-1,260 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศคาดว่าน่าจะอยู่ในกรอบ 18,500 -21,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ดร. พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 30.40 จุด ลดลงจากเดือนก่อน 29.84 จุด หรือลดลงกว่า 49.53% จากระดับ 60.24 จุด ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำทำสถิติปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากราคาทองคำเคลื่อนตัวเป็นทิศทางเชิงลบ ซึ่งปรับตัวลดลงต่ำกว่า 21,550 บาทต่อบาททองคำ มาอยู่ในระดับ 20,000 บาทต่อบาททองคำในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน
โดยกลุ่มตัวอย่างมองว่าปัจจัยกดดันหลักต่อราคาทองคำ คือ ทิศทางนโยบายทางการเงินของ FED แต่ในขณะเดียวกันพบว่านักลงทุน 57.65 % ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ถึง 8.71% ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการลดลงของราคาทองคำในตลาดในประเทศ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบหลายเดือน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของราคาทองในไตรมาสแรกของปี 2560 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีเพิ่มขึ้นกว่า 7.75 จุด หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 15.19% จากระดับ 51.04 มาอยู่ที่ระดับ 58.79 จุด โดยมีปัจจัยหลักคือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อทรัพย์สินที่ปลอดภัย และนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 9 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือนธันวาคม 2559 จะเคลื่อนไหวลดลง จำนวน 4 ราย โดยรองลงมากลุ่มตัวอย่างคาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับราคาทองในเดือนพฤศจิกายน 2559 จำนวน 3 ราย และสุดท้ายมีมุมมองคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะเพิ่ม จำนวน 2 ราย
สำหรับราคาทองคำในตลาดโลก Gold Spot กรอบสูงสุดที่กลุ่มตัวอย่างคาดการณ์มีความถี่หนาแน่นบริเวณ 1,241 – 1,260 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดให้น้ำหนักเฉลี่ยอยู่บริเวณ 1,120 - 1,140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดในช่วง 20,501 - 21,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 18,501 – 19,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และสุดท้าย ด้านค่าเงินบาทไทย(บาทไทย ต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ) กลุ่มตัวอย่างให้กรอบสูงสุดอยู่ที่บริเวณ 35.51 – 36.00 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ กรอบต่ำสุดที่ 34.51 - 35.00 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ