9 ปัญหาเรื่องเงินยอดฮิตของคนอายุ 30+ และทางแก้
คนอายุ 30 ขึ้นไปแล้ว มีภาระหน้าที่มาพร้อมกับหน้าที่การที่สูงขึ้น ไหนจะครอบครัวของตัว ไหนจะพ่อแม่ของทั้งสองบ้าน และถึงจะโสด..ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องเงิน มาดามอยู่ในวัยนี้ค่ะ..เข้าใจดี มาดูกันนะว่าปัญหายอดฮิตและทางแก้แบบง่ายๆ คืออะไรบ้าง
1) ถึงจะเริ่มมีงานการมั่นคงก้าวหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าการเงินฉันจะดี รายได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ค่าใช้จ่ายก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ เผลอๆ แซงรายได้ไปได้ง่ายๆ
ทางแก้ ต้องวางแผนงบประมาณ จดรายจ่าย และทบทวนทุกเดือน ถ้าไม่ทำแบบนี้คุมเงินไม่อยู่แน่นอน
2) รวมหนี้ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แค่นี้ก็บาน จะเอาที่ไหนไปเก็บ ไปลงทุนนี่ยังไม่รวมหนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อน 0% ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าจะไม่เห็นเงินเก็บเงินออม
ทางแก้ ผ่อนทั้งหมดทั้งมวลไม่ควรเกิน 50% ของรายได้ ถ้าเกินกว่านี้จะไม่มีเงินเหลือพอออม พอใช้อย่างอื่น ทางที่ดีควรเริ่มที่ไม่หาเหาใส่หัว ไม่ซื้อบ้านซื้อรถที่แพงเกินตัว ไม่ซื้อของถ้าไม่ได้เก็บเงินมา
3) ค่าเทอมลูก ค่ารถ ค่าเรียนพิเศษ ไม่ต้องไปเรียนนานาชาติหรือต่างประเทศ พ่อแม่ก็แทบไม่เหลือเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกมันแพ้งแพง แต่จะลดก็ลดไม่ได้ แก้วตาดวงใจ เราต้องทุ่มเทใช่ป่ะล่ะ?
ทางแก้ อย่าหน้าใหญ่ เลือกอะไรที่ไม่เกินกำลัง การทุ่มเททุกอย่างให้ลูกแล้วเราไม่เหลืออะไร ไม่ใช่หลักประกันว่าลูกจะได้ดี แต่เป็นหลักประกันที่แน่นอนว่าเราอาจกลายเป็นภาระให้กับเค้าค่ะ
4) วันหยุดเทศกาลก็อยากไปเที่ยว อยากบิน ขนาดแย่งจองตั๋วโปรก็แล้ว ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น เป็นหนี้เป็นสินผ่อนไปอีกหลายเดือน ก็ทำงานเหนื่อย ชีวิตมันหนัก พอจะไปพัก มันกลับกลายเป็นภาระให้มาตามแก้ทีหลัง เพลียๆๆ
ทางแก้ เก็บเงินไปเที่ยวแทนการไปเที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง ตอนคำนวณงบเที่ยวก็ช่วยคิดให้ครบถ้วน ตั้งแต่ก้าวออกจากบ้านยันกลับเข้าบ้าน จะได้ไม่ต้องสุขชั่วคราวลำบากชั่วโคตร
5) แต่งงานอยู่กินกันกับคู่เริ่มเข้าหลักหลายปี แรกๆ ก็ดี แต่ตอนนี้ทะเลาะกันเรื่องเงินหนักขึ้นทุกวัน ก็นี่มันชีวิตจริงไม่ใช่นิยาย กินอยู่ยังไง ความคิดเรื่องเงินตรงกันมั้ย มีผลต่อความสัมพันธ์จริงๆ
ทางแก้ ชวนคุยเรื่องเงินให้เป็นปกติ ให้ประจำ เปิดเผยโปร่งใส ตัดสินใจร่วมกันในเรื่องใหญ่ๆ คุยกันบนพื้นฐานความเข้าใจ ด้วยความรัก เพื่อความร่ำรวย
6) ตัวคนเดียวในยุคนี้ยังแทบเอาไม่รอด แต่นี่จะทำอะไรต้องคิดหลายทอด พ่อเริ่มแก่ แม่เริ่มไม่แข็งแรง สวัสดิการของตัวเองยังไม่ค่อยครอบคลุม ถ้าพ่อแม่ป่วยคงกลุ้ม จะเอาเงินที่ไหนมาดูแล
ทางแก้ คุยกันแต่เนิ่นๆ พวกท่านมีสวัสดิการมีอะไรติดตัวมามั้ย ถ้าไม่มีต้องรีบคิด จะใช้สวัสดิการหรือซื้อประกันสุขภาพก็ติดต่อวางแผนกันไป
7) ตำแหน่งงานอายุช่วงนี้มีแต่รุ่ง แต่อีกไม่กี่ปีค่าตัวเราที่พุ่ง จะกลายเป็นต้นทุนของนายจ้าง อีกไม่กีปีพออายุเข้าสู่หลักสี่ เราจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง โดนให้ออกจากงานง่ายๆ รึเปล่านะ
ทางแก้ ต้องมีเงินออมสำรองไว้อย่างน้อยที่สุดเท่ากับรายได้ 3 เดือน อุ่นใจกว่าคือ 6 เดือนมากกว่านั้นได้ไม่เสียหายอะไร
8) อีก 20 ปีก็จะเกษียณ แต่อย่ามาถามนะว่าตอนนี้ มาถึงครึ่งของเป้าหมายปลายทางในเรื่องเงินรึยัง ก็ดูจากที่ร่ายมาข้างบนสิ.. เอาชีวิตให้รอดวันต่อวันยังแทบตาย เป้าหมงเป้าหมาย ไม่ใช่ไม่กังวล แต่ต้องเอาไว้ก่อนแล้วกัน
ทางแก้ อยู่กับปัจจุบันน่ะดีแน่ แต่ดีกว่าคือคิดเผื่ออนาคต ถ้าทำทุกอย่างที่มาดามว่ามาข้างบน เธอควรจะมีเงินเหลือไว้ออม 10% จากรายได้ทุกเดือน เงินนี้แหละจะช่วยเธอได้ในอนาคต เดี๋ยวค่อยมาว่ากันเรื่องรายละเอียดคำนงคำนวณ
9) จริงอยู่ว่าเราโตแล้ว แต่เราก็ต้องการคนแนะแนว คนนำทางช่วยวางแผนในเรื่องเงิน ทุกคนที่ฉลาดเรื่องงาน ไม่ใช่จะฉลาดเรื่องเงิน นอกจากความรู้ ยังมีเรื่องอารมณ์ mindset และการควบคุมตัวเองที่ต้องฝึกฝน
ทางแก้ นอกจากหาความรู้ มันถึงเวลาควรมีคนสักคน หรือที่ปรึกษาการเงินที่ไว้ใจได้ ข้อสังเกตคือต้องฟังเราเยอะๆ เสนอสิ่งที่ตอบโจทย์เรา ไม่ใช่คอมมิสชั่นของเค้าเป็นหลัก มีความรู้พื้นฐานไว้ คุยกับใครจะได้ไม่รู้สึกโง่และได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา
สรุปแล้ว..มาดามเข้าใจความกลุ้มใจของคนวัย 30+ อย่างลึกซึ้ง อย่างดี เพราะมาดามเองก็อยู่ในวัยนี้
ขอพูดให้อุ่นใจว่ากูรูทุกคนใน aomMONEY พร้อมอยู่เคียงข้างคนทุกวัย คอยให้ความรู้เรื่องเงินในภาษาแบบง่ายๆ เพื่อให้เธอสบายใจ ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องกังวล
แค่เธอคอยติดตาม นำความรู้ เคล็ดลับ ข้อมูลที่พวกเราเอามาฝากไปใช้ ชีวิตเรื่องเงินเธอดีขึ้นได้.. ไม่เชื่อ ก็ลองดู
โอเคนะ
มาดามฟินนี่ Money-More-Fin
ถ้าชอบอะไรแบบนี้
-ติดตามกันได้ทางเพจ “มาดามฟินนี่ Money-More-Fin”
-มีไลน์ด้วย ค้นหาชื่อ “@madamfinney” (มี @ข้างหน้านะคะ)