สารพัดวิธีลดหย่อนภาษีของมนุษย์เงินเดือน (2)
สำหรับตอนนี้ เราจะมาคุยกันต่อถึง ‘ตัวช่วยประหยัดภาษี’ กันค่ะ
ตัวช่วยประหยัดภาษี คือ มาตรการทางภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้กระตุ้นการออมการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องการออมการลงทุน ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราควรศึกษาเพื่อใช้ในการวางแผนภาษีเลยล่ะค่ะ ซึ่งตัวช่วยประหยัดภาษียอดนิยม ได้แก่
1. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันภัย
• เบี้ยประกันชีวิต
สำหรับผู้มีเงินได้ นอกจากจะได้รับความคุ้มครองในระยะยาว และได้ออมเงินอย่างมีวินัยแล้ว เบี้ยประกันของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท และสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาทของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ (จดทะเบียนสมรส และอยู่ด้วยกันตลอดปีภาษี) มาลดหย่อนภาษีได้
• เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงได้ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน กบข กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
• เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ หรือ บิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
สำหรับลูกกตัญญูที่จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้คุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งแต่ละท่านมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทมาหักลดหย่อนภาษีได้
2. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund, RMF)
เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ โดยเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม RMF จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่เมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีค่ะ
3. การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund, LTF)
เป็นกองทุนรวมที่ให้ประโยชน์ด้านภาษีคล้ายกับกองทุนรวม RMF คือ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 15% ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี แต่กองทุนรวม LTF จะเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้น คือต้องลงทุนในหุ้นมากกว่า 65% ขึ้นไป
4. ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย
ไม่ว่าจะกู้ยืมจากธนาคาร สถาบันการเงินบริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือกองทุนสวัสดิการของนายจ้าง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย สามารถช่วยประหยัดภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท
5. การบริจาคต่างๆ
การบริจาคโดยทั่วไป สามารถนำเงินที่บริจาคมาช่วยประหยัดภาษีได้ตามจริง การบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษา สามารถใช้สิทธินำมาหักภาษีได้ถึง 2 เท่า
นอกจากนี้ ในแต่ละปียังอาจมีตัวช่วยอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการออมการลงทุนในช่วงนั้นๆ เช่น ค่าท่องเที่ยวในประเทศ (ค่าทัวร์ ค่าโรงแรม เป็นต้น) ไม่เกิน 15,000 บาทมาลดหย่อนภาษีได้ ฉะนั้น หมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณไม่พลาดโอกาสที่จะใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่
สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงินได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ
ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ และ ‘รวยทะลุเป้า’