อะไรน่าสนใจกว่ากัน ระหว่างประกันชีวิตกับซื้อ LTF
มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายวางแผนเรื่องการลดหย่อนภาษีเงินได้ของตัวเองกันหรือยัง ถ้ายังก็ต้องรีบแล้วนะ เพราะใกล้จะสิ้นปีแล้ว ช่วงนี้แหละค่ะที่ทั้งนายหน้าตัวแทนประกันชีวิตกับบริษัทจัดการกองทุนต่าง ๆ เตรียมทำยอดกันยกใหญ่ มีคำถามยอดฮิตว่าระหว่าง ทำประกันชีวิต กับซื้อ LTF เราจะเลือกซื้ออะไรดีเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้
ก่อนอื่นเรามาทบทวนเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตกับ LTF กันก่อนดีกว่าค่ะ
ประกันชีวิต เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่เราจะนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 2 แบบ คือ ค่าเบี้ยประกันชีวิตและ ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เรามาดูเงื่อนไขของทั้งสองแบบกันค่ะ
• ค่าเบี้ยประกันชีวิต หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าประกันชีวิตต้องมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเงินคืนต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันที่จ่ายรายปี ค่าเบี้ยประกันอื่น ๆ เช่น ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
• ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักลดหย่อนได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปีและต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเท่านั้น มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ผลประโยชน์ของเงินบำนาญจ่ายคืนเมื่อผู้มีเงินได้อายุ 55 ปีขึ้นไป มีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับเงินค่าเบี้ยประกันบำนาญตรงที่เมื่อนำไปรวมกับเงินสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน เงินลงทุนใน RMF เงินออมในกองทุนการออมแห่งชาติแล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
LTF หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับที่จะต้องเสียภาษีในปีนั้น และต้องไม่เกิน 500,000 บาท และผู้มีเงินได้ต้องถือครองการลงทุน LTF ไว้นาน 7 ปีจึงจะขายได้ หากขายก่อนก็ไม่สามารถนำเงินมาหักลดหย่อนภาษีได้
เมื่อทบทวนพอให้เห็นภาพแล้วว่าเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิต กับ LTF เป็นอย่างไร ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า การซื้อประกันชีวิตกับการลงทุนใน LTF อันไหนน่าสนใจกว่ากัน สมมติว่าเราคำนวณเงินได้ที่เราจะต้องเสียภาษีแล้วและวางแผนไว้ว่าเราจะใช้เงิน 100,000 บาท เพื่อซื้อประกันหรือซื้อ LTF เพื่อให้ได้ลดหย่อนภาษี แต่จะซื้ออะไรดีกว่ากัน
หลักในการพิจารณาว่าประกันชีวิต กับ LTF อันไหนน่าสนใจมากกว่ากัน
วัตถุประสงค์
การซื้อประกันชีวิตมีวัตถุประสงค์หลักคือเรื่องคุ้มครองความเสี่ยงและอาจมีแถมเรื่องของสะสมทรัพย์เข้ามาด้วย ในขณะที่การซื้อ LTF มีวัตถุประสงค์หลักในเรื่องของการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว เราคงต้องหันมาดูว่าเราต้องการวัตถุประสงค์ในการลงทุนแบบไหนมากกว่ากัน
ความเสี่ยงจากความผันผวน
LTF เหมาะกับคนที่รับความผันผวนจากผลตอบแทนได้เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า ดังนั้นคนที่เลือกซื้อ LTF จะต้องยอมรับว่าเงินต้นเรามีสิทธิ์หายไปได้ ส่วนประกันชีวิตเหมาะกับคนที่ต้องการซื้อความคุ้มครองชีวิตหรือถ้าเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ ก็เหมาะกับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ชอบความผันผวน ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนที่มากนัก แต่ไม่ต้องการให้เงินต้นหาย รอเวลาได้นาน 10 ปีขึ้นไป ไม่รีบใช้เงิน เราคงต้องหันมาดูว่าตัวเรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน
สภาพคล่อง
ถ้าลดหย่อนด้วยการซื้อประกันชีวิตต้องรอนาน 10 ปีขึ้นไป ถึงจะได้เงินทุนคืน แต่กรมธรรม์บางตัวก็มีเงินคืนระหว่างทางเป็นกระแสเงินสดที่เรานำมาใช้ได้ ส่วน LTF ระยะเวลาสั้นกว่า 7 ปีปฏิทินก็สามารถขายหน่วยลงทุนได้ ถ้าเลือกซื้อ LTF ที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วย ก็จะได้เงินปันผลในระหว่างทางมาใช้ เราต้องถามตัวเองว่าเรารอเวลาได้นานหรือไม่
ผลตอบแทน
เราคงหวังผลตอบแทนอะไรจากการซื้อประกันชีวิตได้ไม่มากนัก เพราะผลตอบแทนไม่สูง สิ่งที่ได้ก็คือความคุ้มครองและการลดหย่อนภาษีที่ทำให้เรารู้สึกว่าคุ้ม ส่วน LTF นั้นเรามีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงมากกว่า ถ้าผู้บริหารกองทุนบริหารจนมีกำไรและกองทุนเติบโตขึ้น แต่ในทางกลับกัน การซื้อ LTF ก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน ส่วนประกันชีวิตนั้นถ้าไม่เวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา อย่างไรก็ไม่ขาดทุนแน่นอน
พอร์ตการลงทุนของเรา
ก่อนที่จะเลือกลดหย่อนด้วยประกันชีวิตหรือ LTF เราก็ต้องหันมาดูพอร์ตการลงทุนของเราด้วยว่า ในปัจจุบันเรามีประกันชีวิตอยู่เท่าไหร่แล้วและมีการลงทุนใน LTF เท่าไหร่แล้ว จึงค่อยตัดสินใจว่าเราจะซื้ออะไรดีในปีนี้ ถ้าคนที่ไม่เคยทำประกันชีวิตมาก่อนเลย ก็น่าจะเป็นเวลาที่ดีที่เราจะได้ตัดสินใจทำประกันชีวิตไปพร้อมกับการได้ลดหย่อนภาษีด้วย เช่นเดียวกับคนที่ไม่เคยลงทุนใน LTF หรือในตลาดหุ้นเลย ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่ได้เริ่มต้นลงทุนด้วย LTF เพราะ LTF มีผู้จัดการกองทุนที่ช่วยบริหารพอร์ตลงทุนให้เรา เราก็เพียงแต่เลือกกองทุน LTF ที่มีประวัติในการทำผลงานที่ผ่านมาได้ดีเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง
สรุป
ถ้าเราไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ต้องการให้เงินต้นหายไป ก็เลือกซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าจะส่งค่าเบี้ยประกันได้และถือกรมธรรม์ให้ครบตามสัญญาเพื่อไม่ให้ต้องเวนคืนกรมธรรม์ก่อนกำหนด หากเป็นแบบนั้นไม่คุ้มค่ากับภาษีที่ได้ลดหย่อนไปแน่ค่ะ
ถ้าเรากล้าเสี่ยงและไม่ต้องการรอนานเป็น 10 ปี การซื้อ LTF ก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องอย่าลืมว่าเงินต้นจากเงินลงทุนมีโอกาสหายไปได้ แต่เงื่อนไขก็บอกไว้แค่ว่าห้ามขายก่อน 7 ปี ถ้าครบ 7 ปียังขาดทุนอยู่ จะถือต่อเพื่อรอช่วงเวลาที่ดีถึงค่อยขายก็ได้
แต่ก็เห็นมีคนที่แบ่งเงินซื้อทั้ง 2 อย่าง เฉลี่ยกันไป ทั้งประกันชีวิต กับ LTF ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงได้แบบหนึ่งและยังลดหย่อนภาษีได้เหมือนเดิม