ต้องออกจากงาน อยากเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมต่อทำอย่างไร ?

ต้องออกจากงาน อยากเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมต่อทำอย่างไร ?

ต้องออกจากงาน อยากเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมต่อทำอย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดหลักเกณฑ์เงื่อนไขรายละเอียด สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อาจต้องพ้นจากงาน แล้วอยากเป็น สมาชิกกองทุนประกันสังคมต่อ เพื่อรักษาสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ทำอย่างไร

เริ่มต้นปี 2560 สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ หลังจากได้พักยาวมาในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ต้อนรับปีไปแล้วก็คงตั้งหน้าตั้งตาตั้งใจทำงานที่รักกันต่อไป แต่เปิดปีใหม่อาจมีบางคนอาจจะไม่โชคดี อาจต้องตกงาน หรือ ต้องออกจากงานประจำ จะด้วยเหตุผลใดก็ตามถือเป็นเรื่องโชคร้าย มากๆอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ การพ้นจากงานตกออก หรือออกจากงาน นั้น จะทำให้สิทธิในสวัสดิการ ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะ การรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยหมดไปด้วย ยิ่งปัจจุบันภาครัฐพยายามเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มสิทธิต่างๆให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การตรวจสุขภาพประจำปี หรือ การรักษาทันตกรรม หรือ รักษาฟันเป็นต้น

แต่แท้ที่จริงๆแล้ว การต้องออกจากงาน หรือ พ้นการจ้างงานของมนุษย์เงินเดือน มนุษย์เงินเดือนยังสามารถเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมได้ แต่จะต้องทำอย่างไร เพื่อจะได้มีสวัสดิการในการดูแลตัวเองต่อไป วันนี้ sanook money เอารายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อจะรักษาสถานะสมาชิกกองทุนประกันสังคมมาฝากกันครับ

การจะเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมต่อ หลังจากพ้นจากงานประจำ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 ตามหลักเกณฑ์ของกองทุนประกันสังคม เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเป็นผู้ประกันตนเองได้ต่อเนื่อง โดยเรียกว่า ผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

คุณสมบัติของผู้สมัคร

1. เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน
2. ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

การยื่นใบสมัคร

1. ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน
2. สถานที่ยื่นใบสมัคร
กรุงเทพฯ ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่
ภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา
(ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

หลักฐานการสมัครมาตรา 39

1. แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
2. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา

เงินสมทบที่ต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคมเดือนละ 432 บาทต่อเดือน

เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน) ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
วิธีการจ่ายเงินสมทบมาตรา 39

จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา พร้อมแบบส่งเงินสมทบฯ (สปส. 1-11)

หักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มี 6 ธนาคาร ดังนี้
1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
6. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

จ่ายด้วยเงินสดที่

1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
4. จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7- ELEVEN ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท สามารถจ่ายเงินสมทบได้ทุกสาขา
5. จ่ายเป็นธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ พร้อมแบบส่งเงินสมทบ สปส. 1-11 ถึงสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (กรณีจ่ายผ่านธนาณัติ แนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่า สั่งจ่าย ตู้ ป.ณ. ใด)
6. จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท
7. จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เพย์สบายที่มีสัญลักษณ์ "แจ๋ว" ทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีค่าธรรมเนียม 10 บาท


หน้าที่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

1. ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน
2. แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงให้สำนักงานประกันสังคมดังนี้
- กรณีเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ (สปส. 1-34)
- กรณีเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ต้องแจ้งทันทีพร้อมแนบสำเนาหลักฐาน
- กรณีประสงค์ลาออกหรือกลับเข้าทำงานและมีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีตามแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 (สปส.1-21)

เหตุที่ทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน

1. ตาย
2. กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
3. ลาออก
4. ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)
5. ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน)


ทั้งหมดคือรายละเอียด ที่นำมาฝากมนุษย์เงินเดือนกัน สำหรับผู้ที่ต้องออกจากงาน หรือ เป็นข้อมูลไว้สำหรับอนาคต หากมีเหตุจำเป็นจริงๆจะได้ไม่เสียสิทธิเสียโอกาสในการรับสวัสดิการต่างๆ จากการเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook