คปภ.เพิ่ม 6 มาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 12 จังหวัดใต้
คปภ. เพิ่ม 6 มาตรการด้านประกันภัยเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยจากเดิม 31 วัน เป็นไม่เกิน 91 วัน ยกเว้นดอกเบี้ยและงดการตรวจสุขภาพในกรณีต่ออายุกรมธรรม์เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ยกเว้นดอกเบี้ยการชำระคืนเงินกู้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติภายใน 6 เดือน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้
ดังนั้นเพื่อเป็นการใช้ระบบประกันภัยในการช่วยเหลือประชาชนแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากที่ได้มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงาน คปภ.ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และภาค 9 (สงขลา) ที่ดูแลพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ให้ดำเนินการช่วยเหลือไปแล้ว สำนักงานคปภ.ยังได้เพิ่ม 6 มาตรการด้านประกันภัยเพื่อเร่งบูรณาการเยียวยาผู้ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้
มาตรการที่ 1 คือการแต่งตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยมีคณะทำงานที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนของสำนักงานคปภ.และตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อประสานความร่วมมือด้านข้อมูลการจัดทำประกันภัยของผู้ประสบภัย ประสานงานการสำรวจภัยและการประเมินความเสียหาย รวมทั้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย ประสานติดตาม เร่งรัด ให้มีการชดใช้ค่าสินทดแทน รวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม รวมทั้งประสานให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้
สำหรับมาตรการที่ 2 ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วคือการสั่งการให้บริษัทประกันภัยสรุปรายงานความเสียหายและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ส่งให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคปภ.ทุกวันศุกร์ ทางอีเมล์ พร้อมจัดส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและเบอร์ติดต่อ บริษัทละ 2 คน ทั้งนี้เพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 1 / 2560 ผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยทางภาคใต้เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เอาประกันภัยในกรณีประกันชีวิตในพื้นที่ดังกล่าว เป็นอีก 3 มาตรการช่วยเหลือ ได้แก่
มาตรการในการขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยจากเดิม 31 วัน เป็นไม่เกิน 91 วัน มาตรการในการยกเว้นดอกเบี้ยและงดการตรวจสุขภาพในกรณีต่ออายุกรมธรรม์เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยหมดอายุ และมาตรการในการยกเว้นดอกเบี้ยการชำระคืนเงินกู้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ
รวมทั้งยังได้ออกมาตรการที่ 6 ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยออกประกาศสำนักงานคปภ.อนุญาตให้ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัยในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดเหตุอุทกภัยที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 สามารถขอขยายระยะเวลาพร้อมขอต่ออายุใบอนุญาตได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์ที่จำเป็นสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยนั้นได้สิ้นสุดลง
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้ โดยข้อมูล ณ. (วันที่ 12 มกราคม 2560) ตามที่บริษัทประกันภัยรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับความเสียหายของรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้มีจำนวน 749 คัน ประเมินความเสียหายประมาณ 94.78 ล้านบาท
“ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนใน 12 จังหวัดภาคใต้ เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศไม่อาจนิ่งดูดาย สำนักงานคปภ.จะใช้สรรพกำลังและเครือข่ายภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้อย่างเต็มที่” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด