12 ทักษะที่คนอยากเป็นเศรษฐีต้องมี
ไม่ว่าใครก็ใฝ่ฝันที่จะอยากเป็นเศรษฐีกันทั้งนั้น แต่การเป็นเศรษฐีนั้น ไม่ใช่แค่เพียงต้องมีเงินเยอะหรือต้องร่ำรวยมหาศาล แต่ต้องมีทักษะเฉพาะบางประการสำหรับคนที่อยากเป็นเศรษฐีพึงจะมี นอกจากนี้ทักษะเหล่านั้นควรได้รับการฝึกฝนและหมั่นเอามาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง TerraBKK Research จะขอแนะนำ 12 ทักษะสำหรับคนที่อยากเป็นเศรษฐีต้อง มี ดังนี้
1. ทักษะด้านการสื่อสาร
เป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ผู้ที่อยากจะเป็นเศรษฐีควรจะมี แต่คือทักษะที่ทุกคนควรมี เพราะการสื่อสารไม่ใช่แค่เพียงการพูดคุยหรือการสนทนาเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสื่อสารในที่ประชุม การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ การส่งอีเมล์เพื่อโต้ตอบธุรกิจการค้า บางคนสื่อสารไม่ดีพอ กลายเป็นส่งสารแบบผิดๆ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน ดังนั้นการสื่อสารที่ดีและตรงประเด็น จะเป็นตัวชี้กำหนดถึงความเป็นมืออาชีพของคุณ
2. ทักษะด้านการขาย
ทักษะการขายคือ ทักษะที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคุณ การขายที่ดีคือการขายที่ต้องรู้ว่าควรขายอะไรให้กับใคร และไม่ยัดเยียดการขายมากเกินไป เหล่าบรรดาเศรษฐีทั้งหลายย่อมต้องมีทักษะนี้ติดตัวอยู่เสมอ ไม่เพียงแต่ขายของได้เท่านั้น แต่พวกเขายังมีเทคนิคที่แพรวพราวจนลูกค้าแทบไม่รู้สึกตัวว่ากำลังโดยขายของอยู่ด้วยซ้ำไป
3. ทักษะด้านมาร์เกตติ้งและแบรนด์ดิ้ง
การทำการตลาดและแบรนด์ดิ้งเป็นรากฐานสำคัญที่จะกำหนดชื่อเสียงของธุรกิจคุณ นักการตลาดที่ดีจะช่วยเสริมให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น (แน่นอนว่าต้องเป็นไปในทางที่ดี) ซึ่งเราจะได้เห็นเหล่ามหาเศรษฐีหลายคนที่รู้จักการใช้มาร์เกตติ้งเพื่อส่งเสริมแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น คุณตัน เจ้าของแบรนด์อิชิตัน ที่นับเป็นนักการตลาดตัวยงในโลกธุรกิจ ที่ไม่ว่าจะออกแคมเปญใดมาต้องได้รับกระแสและได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามอยู่เสมอ
ที่มาภาพ : www.muslimtoday.in.th
4. ทักษะด้านอารมณ์
ในโลกของธุรกิจไม่ได้มีเพียงแต่เน้นรายได้หรือกำไรที่เป็นตัวเลขเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ คนที่จะสามารถขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเป็นเศรษฐีได้นั้น จะต้องรู้จักเข้าใจความรู้สึกของคน ต้องมีความเห็นอกเห็นใจ และใส่ใจกับคนรอบตัว ดังนั้นการรู้จักธรรมชาติของมนุษย์จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยนำไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก
5. ทักษะการยืดหยุ่นและปรับตัว
สิ่งที่ต้องพบเจออยู่เสมอคือการเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ บางครั้งอาจจะมาโดยไม่ทันตั้งตัว ตั้งรับไม่ทัน แต่อย่างน้อยที่สุดคุณควรจะรู้จักการยืดหยุ่นพฤติกรรมตัวเองและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
6. ทักษะการตั้งและวางแผนเป้าหมาย
“วางแผนการทำงานและทำงานให้เป็นไปตามแผน” นี่คือสิ่งที่เศรษฐีทุกคนพึงจะทำ ไม่มีใครประสบความสำเร็จโดยไร้การวางแผนใดๆ ดังนั้นคุณต้องกำหนดแผน กำหนดเป้าหมาย และไปให้ถึงแผนนั้น
7. ทักษะการจัดการเงิน
เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะขึ้นมาเป็นเศรษฐี คือการรู้จักจัดการเงินก้อนที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ผู้ที่จะเป็นมหาเศรษฐีได้นั้น จะต้องรู้จักฝึกการใช้เงินอย่างชาญฉลาด ไม่สิ้นเปลือง เริ่มต้นด้วยการหัดทำรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปของเงิน
8. ทักษะความคิดด้านนวัตกรรม
ผู้ที่จะสามารถทำธุรกิจเพื่อให้เป็นเศรษฐีได้นั้น จะต้องมีความคิดใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำตามคนอื่น หาช่องทางใหม่ๆ (Innovation) เพราะในโลกของธุรกิจจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆออกมาอยู่เสมอ อย่างเช่น สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ทีก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่างๆมากมาย ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวงการมือถือ อย่างที่เราได้เห็นในทุกวันนี้
ที่มาภาพ : www.johanirwan.com
9. ทักษะความมีเมตตา
นอกจากจะต้องสามารถจัดการด้านการเงินได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรขาดเลยก็คือความมีเมตตา โอบอ้อมอารีแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น อย่างเช่นกรณี บิลล์ เกตต์ เขาได้การก่อตั้งมูลนิธิร่วมกับภรรยาชื่อว่า มูลนิธิบิลล์ แอนด์ เมลินดา ซึ่งมุ่งพัฒนาด้านการเกษตร ห้องสมุดในที่ต่างๆ ของโลก คนยากจนในชนบท สาธารณสุข และการศึกษา ทำให้บิลล์ เกตต์ ติดอันดับมหาเศรษฐีที่ใจบุญที่สุดในโลก
ที่มาภาพ : www.glassdoor.co.uk
10. ทักษะการเป็นผู้นำ
ผู้ที่เป็นเศรษฐีส่วนใหญ่มักจะมีความเป็นผู้นำอยู่ในตัว ทั้งการควบคุมและดูแลผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้หากเกิดอะไรผิดพลาด ผู้นำคือคนที่จะต้องมีรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้นำยังจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นในยามที่คับขัน
11. ทักษะด้านการสร้างพันธมิตร
การสร้างความสัมพันธ์และการสร้างพันธมิตรเป็นเครื่องมือหนึ่งในโลกของธุรกิจ ซึ่งหลักๆแล้วคือเพื่อการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย อาจจะใช้เงินทุนร่วมกัน หรือดำเนินธุรกิจร่วมกัน
12. ทักษะการจัดการเวลา
มักจะเป็นทักษะที่หลายๆคนมักขาดไป คือการจัดสรรเวลาอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้จะต้องรู้จักลำดับความสำคัญของงานแต่ละอย่าง และที่สำคัญเลยคือ work-life balance คือบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ไม่ใช้เวลากับการทำงานมากไปจนขาดเวลาความเป็นส่วนตัว และไม่เอาเวลางานมาใช้ในเรื่องส่วนตัวจนเสียงาน