‘เทรนด์การเงินเปลี่ยนโลก’ เงินทองไร้ขีดจำกัด ในยุค 4.0
ปี 2016 เป็นปีที่พลังดิจิทัล เทคโนโลยี ขับเคลื่อนในทุกแวดวง รวมถึงการเงิน การธนาคาร ทำให้เกิดนวัตกรรมการเงินที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมการเงิน และทำให้พฤติกรรมของผู้ใช้งานค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป K-Now ธนาคารกสิกรไทย สรุป 4 ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ยังคงส่งผลเป็นระลอกต่อเนื่องมาถึงปี 2017 ได้แก่
1. National e-Payment
2. E-Wallet
3. FinTech
4. Digital Banking
ความเคลื่อนไหวแรก - National e-Payment
โครงการระดับชาติ ที่ต้องการผลักดันให้เกิดระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายในการชำระเงินมากขึ้น มี 4 โครงการสำคัญ ได้แก่
พร้อมเพย์: ทางเลือกใหม่ในการรับ-โอนเงินด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และง่ายขึ้นผ่านหมายเลขโทรศัพท์ หรือเลขประจำตัวประชาชน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์ 18 ล้านคน
• เริ่มใช้แล้ว 8 ธ.ค. กับ 3 สถาบันการเงินของภาครัฐ ในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
• เงินคืนภาษีประจำปี 2559 ก็จะจ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์เช่นกัน
ขยายการใช้บัตร: ก้าวสู่ Cashless Society ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บัตรเดบิตมากขึ้นทั้งกับร้านค้าและหน่วยงานราชการ ขยายจุดวางเครื่องรับรูดบัตร (เครื่อง EDC) ในร้านค้าต่างๆ และสถานที่ราชการ
e-Payment ภาครัฐ: รับและจ่ายเงินสวัสดิการสังคม รวมถึงการทำธุรกิจกรรมกับหน่วยงานภาครัฐโดยไม่ใช้เงินสดและเช็ค นำร่องด้วยโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ก่อนขยายไปยังโครงการและบริการรัฐอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบรักษาพยาบาล
ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์: ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีจะมาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้กระดาษ ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการจัดทำเอกสารชำระภาษี และจัดการคืนเงินภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้รวดเร็วขึ้น
ความเคลื่อนไหวที่สอง - e-Wallet หรือกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์
โอน เติม จ่ายได้ง่ายและรวดเร็ว แบบ Anytime, Anywhere มี 2 รูปแบบ
1. Card Base หรือบัตรเงินสด ผู้ใช้สามารถเติมเงินเข้าไปในบัตร และใช้บัตรซื้อของหรือชำระค่าบริการได้ทันที อย่างง่ายดาย และสะดวก ไม่ต้องพกเงินสด แค่บัตรใบเดียวพอ เช่น Rabbit Card, Smart Purse
2. Digital Account หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น เช่น PayPal, AIS mPay, TrueMoney สามารถใช้ชำระเงินได้รวดเร็ว เพียงผูกบัญชีกับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต หรือเติมเงินผ่านการโอนจาก Mobile Banking/Internet Banking ก็ได้เช่นกัน
โอกาสของ e-Wallet ในไทย
ด้วยจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยถึง 47 ล้านคน และเทคโนโลยี 4G ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระแสของ e-Wallet มาแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นว่าในปี 2015 ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้งาน e-Wallet อยู่ 7.6%
ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 14 รายที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น
• กลุ่มผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ อย่าง mPay, PaysBuy, TrueMoney
• กลุ่มสตาร์ทอัพ เช่น AirPay, T2P, MOL
• กลุ่มผู้ให้บริการต่างชาติ เช่น AliPay, WeChat Pay และ Samsung Pay
ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายในการเข้าถึง e-Wallet นอกจากนี้ ธุรกิจนี้ยังเติบโตได้อีกมาก ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คือนิยมพกเงินสดน้อยลง รวมถึงมีความต้องการซื้อของออนไลน์ หรือซื้อแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์ (มีผู้ใช้ 16 ล้านราย)และกูเกิลเพลย์ (มีผู้ใช้ 20 ล้านราย) แต่ไม่มีบัตรเครดิต หรือไม่อยากผูกบัญชีกับบัตรเครดิต
จากรายงานของ Global Payment Report ปี 2016 พบว่าค่าเฉลี่ยสัดส่วนการใช้ e-Wallet ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ปี 2015 อยู่ที่ 19.5% และในปี 2017 จะเพิ่มขึ้นเป็น 23% และมีการประมาณการมูลค่าการใช้ e-Wallet ในปี 2017 ทั่วโลกอาจสูงถึง 1,656,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็น 41% ของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
ความเคลื่อนไหวที่สาม - FinTech
Key Word สำคัญที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการการเงินของโลก ซึ่งกำลังเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงรูปแบบการให้บริการของสถาบันการเงิน
รู้หรือไม่ ทุกวันนี้เราได้ใช้ FinTech กันแล้ว
• FinTech สำหรับชำระเงิน ไม่มีบัตรเครดิตก็สามารถช้อปของออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น 2C2P, mPay, TrueMoney, Air Pay, Rabbit LINE pay
• FinTech สำหรับเปรียบเทียบประกันและโปรฯ บัตรเครดิต ช่วยประหยัดเวลาค้นหาโปรฯ ที่ดีที่สุด และตรงความต้องการมากที่สุดด้วยตัวเองในพริบตา เช่น go bear, Rabbit Finance
• FinTech สำหรับข้อมูลการลงทุน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนด้วยการค้นหาหุ้นเด่นได้ในเวลาอันสั้น เช่น Stock Radars, Jitta LINE Finance
• FinTech สำหรับการจัดการการเงินส่วนบุคคล ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและคำนวณภาษีได้เป๊ะสุดๆ เช่น iTax, Piggipo
ความสำเร็จของ FinTech ของประเทศไทย
ปรบมือดังๆ ให้กับ บีคอน อินเตอร์เฟส Startup FinTech จากประเทศไทย จากการสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ที่สามารถคว้า 2 สุดยอดรางวัลงานประกวดระดับโลก Singapore FinTech Festival 2016 ด้วยนวัตกรรมที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นสามารถทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนได้สะดวกและปลอดภัยได้เช่นเดียวกับตาสายตาปกติ
ความเคลื่อนไหวที่สี่ – Digital Banking
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย (28 ธ.ค. 59) ประมาณการณ์ว่าในปี 2560 สมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะขายได้ประมาณ 17.2-17.4 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คนไทยสามารถเข้าถึงสมาร์ฟโฟนได้ 75% ของประชากรทั้งหมด ประกอบกับดิจิทัล เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเครือข่าย 4G ที่ครอบคลุมและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ดิจิทัล แบงก์กิ้งในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด
และจาก รายงาน Mobility Report ของ Ericsson เดือน มิถุนายน 2559 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ประชากรมีการใช้งาน Mobile Banking โดดเด่นที่สุดในโลก โดยประเทศที่ติด 10 อันดับนี้ด้วย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย บราซิล เคนยา สวีเดน ไนจีเรีย ไทย
โดยระหว่างปี 2011 – 2014 การทำธุรกรรมผ่าน Internet Banking เติบโตขึ้น 32 % ในขณะที่ Mobile Banking โตขึ้น 62 %
เงินทองไร้ขีดจำกัด ในยุคดิจิทัล 4.0
ในปีนี้ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมจากหลายๆ โครงการที่อยู่ภายใต้แนวนโยบาย Digital Economy จาการผลักดันจากภาครัฐที่มุ่งมั่นให้ประเทศไทยก้าวสู่ Cashless Society 2017 ในขณะที่ภาคเอกชนในทุกแวดวง พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดิจิทัล เทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นผลพัฒนาจาก FinTech นี่คือตัวอย่างของความร่วมมือข้ามสายธุรกิจ ข้ามพรมแดน ที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัล 4.0 สะดวกสบายมากกว่าที่เคยเป็นมา
• แนวรุกของ National e-Payment
ธปท. และ กสทช. ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำกับดูแลบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เรื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการใช้งานโมบาย แบงกิ้ง รวมถึงบริการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ได้แก่
1. การขอออกซิมการ์ดใหม่ การขอเปลี่ยนแปลงเจ้าของซิมการ์ด การขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ลูกค้าจะต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงทั้งผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
2. การปรับปรุงนโยบายรักษาความลับข้อมูลลูกค้าให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น
3. กรณียกเลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถขอรับคืนเงินผ่าน e-wallet หรือบริการพร้อมเพย์ได้ โดยไม่จำกัดวงเงินการโอน
• ใช้จ่ายไร้พรมแดน Cross Border Payment
KBank เพิ่มศักยภาพระบบ Cross Border Payment ด้วยการพัฒนาเครื่อง EDC ที่รับสามารถรับชำระด้วย QR Code ผ่าน Alipay และ WeChat Pay เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 9 ล้านคนในไทย พร้อมขยายจุดรับชำระด้วย e-wallet แล้วทั่วประเทศ
• FinTech กับการเชื่อมธุรกรรมโอนเงินระดับโลก
KBank จับมือบริษัท International Business Settlement หรือ IBS เจ้าแห่ง FinTech จีน พัฒนาระบบชำระเงินไทย-จีน ในรูปสกุลเงินบาท และเงินหยวน ด้วยเทคโนโลยี Distributed Computing และ Blockchain ผ่านเครือข่ายชำระเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ ช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่าย ต้นทุน ด้วยความปลอดภัยสูง รองรับการค้า และธุรกรรมการเงินไทย-จีนมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท
• e-Wallet กระเป๋าเงินบนมือถือ พร้อมจ่ายทุกที่ ทุกเวลา
Samsung Pay เป็น e-Wallet จากค่ายมือถือเจ้าแรกที่มีการทำตลาดในประเทศไทย เป็นการชำระเงินรูปแบบใหม่ด้วยบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟน ที่ใช้งานง่าย สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์ โดยเปิดให้ลงทะเบียนผูกบัตรเครดิตที่สามารถใช้จ่ายสินค้าและบริการด้วยซัมซุงเพย์ ผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการในการรับชำระบัตรเครดิตอย่าง วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ล่าสุดบัตรเครดิตกสิกรไทยจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าบัตรเครดิตกสิกรไทยที่ลงทะเบียน Samsung Pay ด้วยบัตรเครดิตกสิกรไทย และใช้จ่าย รับเครดิตเงินคืน 100 บาท เมื่อรูด 100 บาทขึ้นไป
โลกเปลี่ยน เปลี่ยนโลกการเงินการธนาคาร
บริการธุรกรรมการเงินนับต่อจากนี้ ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องรับ ฝาก ถอน โอนเงิน เท่านั้น แต่ธนาคารในอนาคตจะหล่อหลอมอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนในทุกที่ ทุกเวลา
• รู้จริง รู้ใจ สร้างผลิตภัณฑ์ตอบทุกโจทย์ด้วย Big Data & LBS
ธนาคารจะให้บริการลูกค้าได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Big Data ซึ่งจะเก็บข้อมูลจากกิจกรรมทุกอย่างบนโลกออนไลน์ตั้งแต่การค้นหาใน Google เข้าเว็บไซต์ กดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี Location-based services (LBS) ที่ช่วยให้ธนาคารสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้เป็นรายบุคคล โดยอ้างอิงจากพื้นที่ที่ลูกค้าอยู่
• จัดการธุรกรรมได้ด้วยตัวเอง
การทำธุรกรรมที่สาขาในอนาคตจะสะดวก และรวดเร็วขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Internet of Thing ซึ่งอุปกรณ์โมบาย เช่น โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, สมาร์ทวอทช์ ของลูกค้าจะเป็นตัวช่วยแจ้งความต้องการของลูกค้าในการมาทำธุรกรรมที่สาขา และเป็นตัวจัดการให้เกิดการทำธุรกรรมนั้นๆ ขึ้น ทั้งกับพนักงาน และเครื่องอัตโนมัติ
• สร้างประสบการณ์บริการแบบ 360 องศา
อีกหนึ่งบทบาทของธนาคารที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตคือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งจะเสริมไปกับการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัล ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าได้แบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้าง Omnichannel Customer’s Experience
• ฟันเฟืองสำคัญในโลกอนาคตแห่ง Sharing Economy
ธนาคารจะมีบทบาทสำคัญในโลกของ Sharing economy ที่จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มจากที่มีอยู่เช่น AirBnB หรือ Uber โดยธนาคารจะเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินของธุรกิจประเภทนี้