วิกฤติซํ้า! บินไทยซื้อแอร์บัส 340 จอดทิ้งอู่ตะเภาเจ๊ง 1.4 หมื่นล้าน

วิกฤติซํ้า! บินไทยซื้อแอร์บัส 340 จอดทิ้งอู่ตะเภาเจ๊ง 1.4 หมื่นล้าน

วิกฤติซํ้า! บินไทยซื้อแอร์บัส 340 จอดทิ้งอู่ตะเภาเจ๊ง 1.4 หมื่นล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 25 ม.ค.60 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริงกรุ๊ป ระบุว่า "ฉาวกระฉ่อนไปทั่วโลก งามหน้าบรรษัทภิบาลแห่งชาติไทย กรณีถูกแฉสินบนข้ามชาติ 1,300 ล้านบาท ที่ “โรลส์-รอยซ์” จ่ายให้นายหน้าจัดซื้อเครื่องยนต์ให้กับการบินไทย ผงะ! คำฟ้องเอสเอฟโอระบุชัด"

 tg2


3 สัญญาฟันกำไรมากกว่า 118 ล้านปอนด์ หรือราว 7,000 ล้านบาท

เรื่องฉาวโฉ่ข้ามชาติของ การบินไทยยังไม่ได้จบ แค่เพียงเท่านี้ ยังมีซากเครื่องบิน แอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 3 ลำ ที่จอดนิ่งสนิท อยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา ประจานความล้มเหลวและไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการในอดีตที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะปลดระวาง โดยกองทัพอากาศ ช่วยซื้อไปแล้ว 1 ลำ จากทั้งหมด 4 ลำ แต่อีก 3 ลำนั้น ยังไม่มีท่าทีว่าจะขายได้

ต้นเหตุมาจากการวางแผนที่ผิดพลาดซื้อเครื่องบินพิสัยไกล และใช้เชื้อเพลิงมาก เพื่อมาให้บริการในเส้นทางบินตรง (นอนสต็อป) กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก จะด้วยตั้งใจหรือรู้อยู่แก่ใจ แต่หลังจากเปิดบริการได้เพียง 3 ปี ตัวเลขการขาดทุนเส้นทางนี้ก็ทะลุไปถึง 7,000 ล้านบาท กระทั่งบอร์ดต้องยกเลิก เส้นทางบินดังกล่าวไปเมื่อปี 2551 ตอกยํ้าถึงขบวนการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ ในสายการบินแห่งชาติ และกลายเป็นต้นทุนระยะยาวในการบริหารจัดการและเป็นสาเหตุหลักทำให้การบินไทยขาดทุนจนโงหัวไม่ขึ้นอย่างทุกวันนี้

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจ่ายค่านายหน้าเพื่อผลักดันให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์เทรนท์ 500 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัสเอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยทักษิณ 1 เมื่อปี 2546 ซึ่งอยู่ในแผนจัดหาเครื่องบินปี 2545-2547 จำนวน 39 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เครื่องบินแอร์บัสเอ 340-500 ซึ่งเป็นการสั่งซื้อเครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ สำหรับทำการบินข้ามทวีปแบบไม่ต้องแวะพัก (Ultra Long Range) ระยะเวลาบิน 18 ชั่วโมง เพื่อมาทำการบินตรงในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 และทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลีส เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปีเดียวกัน

tg3

ทำแผนบินตามออร์เดอร์

“การสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ ถือเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญ ที่เกิดขึ้นจากการเขียนแผนตามใบสั่งออร์เดอร์เครื่องบินจากฝ่ายการเมือง ทำให้การบินไทยต้องประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนักจนทนแบกรับภาระการขาดทุนไม่ไหวต้องหยุดบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 แล้วนำเครื่องบินรุ่นนี้ ไปบินตรงในเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอสเองเจลีสแทน”

แต่หลังจากเปิดบริการได้ไม่นานก็ต้องหยุดบินตรงกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลีส ในวันที่ 29 เมษายน 2555 และเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER แทน โดยปรับเส้นทางบินใหม่เป็นกรุงเทพฯ-โซล-ลอสแองเจลีส เช่นเดียวกับการใช้แอร์บัสเอ 340-500 บินในเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ก็ได้ถูกเปลี่ยนไปใช้โบอิ้ง 777-300 ER แทน

tg4


ขายตั๋วทะลุ120%ถึงคุ้มทุน

ทั้งนี้สาเหตุการขาดทุนเป็นเพราะเครื่องบินรุ่นนี้ ใช้เครื่องยนต์เทรนท์ 4 เครื่องยนต์ทำให้กินนํ้ามันมาก ประกอบกับในช่วงปี 2548 ราคานํ้ามันสูงเกือบ 5 เท่า มีเพียง 215 ที่นั่ง แม้จะขายเต็มลำก็ยังขาดทุน ต้องขายให้ได้ถึง 120% จึงจะคุ้มทุน ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ร่วม 3 ปีผลประกอบการเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ขาดทุนกว่า 7,000 ล้านบาท กระทั่งบอร์ดมีมติให้ยกเลิกเส้นทางบินดังกล่าวและประกาศขายเครื่องบินดังกล่าวทิ้งแบบขาดทุนแต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถขายเครื่องบินรุ่นเอ 340-500 และเอ 340-600 ได้ โดยมีอายุการใช้งานกว่า 11 ปี

ส่งผลให้การบินไทยต้องทยอยรับรู้ผลการขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินทุกปี จนปี 2558 เครื่องบิน เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ได้ทำด้อยค่าในวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกของปี 2559 มีการทำอีกกว่าพันล้าน ปัจจุบันฝูงบินเอ 340 มีมูลค่าเหลือ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งจะลดขาดทุนของบริษัทและทำให้เครื่องบินขายได้ง่ายขึ้น

“แอร์บัสเอ 340 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2545 มูลค่าลำละ 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การบินไทยก็ซื้อมา ในราคาเฉลี่ยราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ ปี 2552 มูลค่าลดลงเหลือ 153 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯปัจจุบันมูลค่าของเครื่อง เอ 340 อยู่ที่ไม่ถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเครื่อง”

 

จอดรอขายซากที่อู่ตะเภา

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จนถึงวันนี้แอร์บัสเอ 340-500 และแอร์บัส เอ 340-600 ยังจอดรอคอยที่อยู่สนามบินอู่ตะเภา และจัดอยู่กลุ่มเครื่องบิน 20 ลำที่การบินไทยอยู่ระหว่างการเตรียมปลดระวาง โดยเครื่องบินรุ่นอื่นๆ ที่จอดอยู่เป็นบางรุ่นรอการส่งมอบ บางรุ่นรอเจรจา ยกเว้นแอร์บัส เอ 340 ที่ขายได้ยากมาก บางรายที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อก็กดราคาขายเหลือเพียง 7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ บางรายให้ราคาไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ ซึ่งตํ่ากว่าราคาบุ๊กแวลู ที่อยู่ที่ราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีท่าทีจะขายได้

ขณะนี้เครื่องบิน เอ 340-500 เหลือรอขายอยู่ 3 ลำ หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 การบินไทยได้ขายให้กับกองทัพอากาศในราคา 1,745 ล้านบาท 1 ลำ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องบินวีไอพี สำหรับการให้บริการของผู้นำประเทศ และเครื่องบินเอ 340-500 ที่ขายไปนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ราว 800 ล้านบาทส่วนที่เหลือกว่า 900 ล้านบาท เป็นการปรับเปลี่ยนเก้าอี้และซ่อมบำรุงใหญ่

tg5 

 

ชง 3 แนวทางโละ "เอ 340"

อย่างไรก็ดีจากที่เครื่องบิน เอ 340 มีแนวโน้มจะขายไม่ได้ ทำให้ทางฝ่ายบริหารและบอร์ดมีการหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยแนวทางแรกคือการบินไทยยังคงต้องการขายเครื่องบินรุ่นนี้ออกไปจากฝูงบิน ล่าสุดได้รับการติดต่อจากบริษัทจากประเทศอิหร่าน ที่แสดงความสนใจซื้อเครื่องบินทั้ง 9 ลำที่เหลือ แต่ยังไม่ได้มีการเสนอราคาซื้อเข้ามา แนวทางที่ 2 การให้เช่า โดยก็มีบริษัทจากจีนแสดงความสนใจที่จะเช่า และแนวทางที่ 3 คือ มองที่การจะนำกลับมาบินใหม่

tg6 

 

บินใหม่ซ่อมอีก 2 พันล้าน

เนื่องจากขณะนี้ราคานํ้ามันปรับตัวลดลงอยู่ที่ราว 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จึงมีการศึกษาเส้นทางบินที่เหมาะสมหากการบินไทยจะนำแอร์บัส เอ 340 มาทำการบินใหม่ต้องมีการลงทุนอีกกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องบินให้ใช้งานได้ แยกเป็น 2 ฝูงบินคือ แอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 3 ลำ ลงทุนอีกราว 1,000 ล้านบาท และแอร์บัส เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ลงทุนอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องเปลี่ยนเก้าอี้ใหม่ รวมถึงซ่อมบำรุงให้กลับมาบินได้

สำหรับเหตุผลที่เลือกซื้อเครื่องบินแอร์บัส 340-500 กับ 340-600 เนื่องจากค่าคอมมิชชันในการจัดซื้อ 5% ขณะที่โบอิ้งจ่ายแค่ 3% จึงเป็นแรงจูงใจให้นายหน้าในการเลือก A340 จำนวน 10 ลำ มูลค่า 4.6 หมื่นล้าน โดยมีค่าคอมมิชชันในการจัดซื้อฝูงบินครั้งนี้ไม่ตํ่ากว่า 2 พันล้านบาท

 tg7


สุดท้ายการซื้อฝูงบินดังกล่าว กลายเป็นซากเครื่องที่ประจานความล้มเหลว จอดนิ่งอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภาตั้งแต่ปี 2551 นับถึงปัจจุบันค่าเสื่อมพุ่งไปแตะ 6.8 พันล้านบาท เมื่อรวมกับผลการขาดทุนจากการบินตรงเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก 3 ปีแล้วเลิก 7 พันล้านบาท แล้วส่งผลให้ยอดความเสียหายร่วม 1.4 หมื่นล้านบาท

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริงกรุ๊ป ฉบับที่ 3230 วันที่ 26-28 ม.ค.2560

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook