เทคนิคเสริมแกร่งพลังการเงิน 5 ด้าน
“ออมเงินก่อนใช้จ่าย สำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน
ทำประกันสร้างความคุ้มครองจัดพอร์ตลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
และอย่าลืมวางแผนเพื่อชีวิตเกษียณที่สุขสบาย”
มีใครเคยประสบกับเหตุการณ์แบบนี้บ้าง ใช้เงินเดือนชนเดือน หลังจากเงินเดือนออกได้ไม่กี่วัน พอมาดูตัวเลขในบัญชี หรือเงินในกระเป๋า ก็ตกใจว่า เงินใกล้จะหมดอีกแล้ว เหมือนมีใครมาขโมยเงินไป จนต้องนั่งคำนวณว่าเงินที่เหลืออยู่จะใช้ได้วันละเท่าไรให้ถึงสิ้นเดือน แล้วก็ลุ้นให้ถึงวันเงินเดือนออกเร็วๆ ... เชื่อว่าไม่มีใครอยากเจอเหตุการณ์เช่นนี้ หรือถ้าเป็นอยู่ ก็คงอยากหลุดพ้นจากปัญหาวนเวียนชีวิตแบบนี้ไวๆ และอยากมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรง ซึ่งจะทำอย่างไรได้บ้างนั้น K-Expert มีคำแนะนำ หรือ “เทคนิคเสริมแกร่งพลังการเงิน 5 ด้าน” มาฝากค่ะ
1. เสริมพลังการออม - ออมก่อนใช้ทุกเดือน อย่างน้อย 20% ของรายได้
ปัญหาไม่มีเงินเก็บ เครียดไม่มีเงินออม จะหมดไปทันที ถ้าเราใช้วิธี “ออมก่อนใช้” พอเงินเดือนออก หรือมีรายได้เข้ามา ก็หักมาเก็บออมไว้ก่อนเลยอย่างน้อย 20% ของรายได้ สามารถเริ่มจากออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน เพราะถ้าออมได้ทุกเดือน รับรองมีเงินเก็บสบายๆ แน่นอน นอกจากการออมเงินแล้ว การหลีกเลี่ยงตัวการที่ทำให้ไม่มีเงินออมก็สำคัญ นั่นก็คือ หนี้สิน โดยไม่ก่อหนี้เกินตัว คือ มีภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน และหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล
2. เสริมพลังเตรียมพร้อมเรื่องเงินสำรอง - เผื่อเงินสำรอง 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้เราต้องใช้เงินทันทีจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ไม่ว่าจะเป็นรถเสียต้องเข้าอู่ซ่อม หลังคาบ้านรั่วต้องซ่อมแซม หรือว่างงานขาดรายได้ โดยถ้าเรามีเงินสำรองเก็บไว้ ก็ทำให้ไม่ต้องหยิบยืมเงินเพื่อมาใช้จ่าย ปัญหาหนี้สินก็ไม่ตามมา ซึ่งควรมี “เงินสำรองสัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน” เช่น มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองเผื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินประมาณ 120,000 บาท เก็บในรูปของเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนตลาดเงิน
3. เสริมพลังความคุ้มครอง - ทำประกันชีวิตคุ้มครองครอบครัวอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี
หากเราเป็นเสาหลักที่ต้องดูแลครอบครัว ในวันที่เราจากไป คนที่เรารัก หรือลูกหลานจะอยู่ต่อไปอย่างไร การสร้างทรัพย์สินหรือหลักประกันความมั่นคงไว้ให้พวกเขาจึงมีความสำคัญ ซึ่งประกันชีวิตช่วยตอบโจทย์ได้ โดยควรมี “ความคุ้มครองชีวิตอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี” รวมถึงทำประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับตัวเรา เช่น ความคุ้มครองอุบัติเหตุ ความคุ้มครองสุขภาพ และสำหรับผู้ที่มีภาระหนี้สิน เช่น หนี้บ้าน ควรทำประกันคุ้มครองหนี้สินไว้ด้วย เพื่อครอบครัวจะได้ไม่ต้องรับภาระหนี้ในส่วนนี้
4. เสริมพลังการลงทุน – จัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
เมื่อสร้างนิสัยออมเงินอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนให้ตัวเอง และสำรองเงินเผื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินอย่างเพียงพอแล้ว ก็ต้องรู้จักนำเงินออมส่วนที่เหลือไปลงทุนให้เงินงอกเงย ซึ่งการลงทุนที่ดีควร “จัดพอร์ตการลงทุน” หรือที่เป็นการกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ในสัดส่วนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง สามารถมีสัดส่วนลงทุนในหุ้นได้สูง เช่น หุ้น 55% ตราสารหนี้ 45% แต่ถ้าไม่อยากรับความเสี่ยงมากนัก ก็ไม่ควรมีสัดส่วนลงทุนในหุ้นสูงมาก เช่น หุ้น 30% ตราสารหนี้ 70%
5. เสริมพลังวางแผนเกษียณ - ควรเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างน้อย 6 ล้านบาท
เมื่อเกษียณแล้ว รายได้ประจำอาจขาดหายไป แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังคงมีอยู่ ทำให้ต้องรู้จักวางแผนเตรียมเงินให้พร้อมสำหรับชีวิตเกษียณ โดยถ้าเกษียณวันนี้ที่อายุ 60 ปี มีเงินกิน เที่ยว ใช้สบายๆ เดือนละ 26,000 บาท จะต้อง “เตรียมเงินเพื่อเกษียณอย่างน้อย 6 ล้านบาท” แต่ถ้าตอนนี้อายุไม่ถึง 60 ปี เงินที่จะใช้เดือนละ 26,000 บาท ต้องรวมเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ทำให้ต้องเตรียมเงินเพื่อเกษียณมากกว่า 6 ล้านบาท ดังนั้น เริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อชีวิตเกษียณที่สุขสบาย มีเงินใช้จ่ายอย่างไม่ลำบาก โดยสามารถออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ของบริษัทที่ทำงาน หรือออมด้วยตัวเองผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่ะ
โดย : นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP®
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย