ตายแล้ว(หนี้)ไปไหน ?

ตายแล้ว(หนี้)ไปไหน ?

ตายแล้ว(หนี้)ไปไหน ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพิ่งจะผ่านปีใหม่มาได้ไม่นาน เผลอแป๊บเดียวก็จะหมดเดือนแรกของปีซะแล้ว ถือว่าเวลาไปเร็วเหมือนกันนะเนี่ย วันก่อนในพันทิพมีกระทู้หนึ่งเกี่ยวกับพวกบัตรเครดิต บัตรเดบิต และหนี้สินเรื่องหนึ่งน่าสนใจมากๆ ซึ่งเป็นหัวข้อของเราในวันนี้ก็คือ หากเราเสียชีวิตในขณะที่มีหนี้สินจากบัตรเครดิตอยู่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร

ตายแล้ว(หนี้)ไม่ตายตาม

อย่างแรกที่เราต้องเข้าใจกันเสียก่อนก็คือ หลักการเกี่ยวกับหนี้และการตามหนี้นั้นมีหลักแนวคิดอยู่ว่า หากลูกหนี้ตายแล้วก็จริงแต่หนี้ก็ไม่ได้ตายตามไปด้วย จะต้องมีผู้รับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้น โดยอาจจะเป็นใครก็ตามที่เกี่ยวข้องอย่างทายาท เป็นต้น ทั้งนี้แนวคิดนี้ทำขึ้นเพื่อป้องกัน การตายเพื่อหนีหนี้ที่ก่อขึ้น ลองนึกภาพตามนะว่าถ้าหากเราก่อหนี้บัตรเครดิตสัก 10 ล้านแล้วไม่จ่าย สุดท้ายฆ่าตัวตายไป ธนาคารก็เสียเงินไปเปล่าๆเลย 10 ล้านบาท ถ้าเกิดมีคนคิดอย่างนี้สัก 10 คน ธนาคารก็เสียเงินไปแล้ว 100 ล้านบาท ซึ่งมันอาจจะทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินล้มละลายได้เลย

คนตาย แต่หนี้เกิด

ปัญหาหนึ่งที่มักจะพบกันบ่อยของหลายๆครอบครัวนั่นก็คือ บางครั้งคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา บุตร พ่อแม่ หรือใครก็ตาม แอบไปทำบัตรเครดิต หรือ แอบมีหนี้บัตรเครดิต หนี้แบบอื่นๆไว้ โดยไม่บอกคนในครอบครัว ซึ่งมักจะเกิดจากคิดว่า ตัวเองจัดการหนี้ตรงนี้ได้ แต่พอตายไปก็ทำให้เรื่องนี้หนี้ที่ปกปิดไว้แดงขึ้นมา ซึ่งบางครั้งภรรยา หรือ คนในครอบครัวไม่รู้เลยว่ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น แน่นอนว่าเมื่อรู้เรื่องแล้วส่วนมาก มักจะช็อค และจัดการอะไรไม่ถูกเสมอ เพราะบางครั้งหนี้ก็ก้อนใหญ่เกินกว่าที่จะคิดอะไรได้ออก ผสมกับความโศกเศร้าที่ต้องจัดงานศพอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่

ความตายไม่แน่นอน แต่มีหนี้ต้องชำระแน่นอน

จากที่เคยเห็นมาอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ก่อนที่จะไปคุยเรื่องสำคัญก็คือ ความตายไม่แน่นอน แต่มีหนี้ต้องชำระอันนี้แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ เราควรพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดไว้ด้วยว่า ตัวเองมีหนี้ทางไหน เท่าไร เวลาเกิดอะไรขึ้นมาจะได้แก้ไขได้ถูก อย่าให้ความตายของเราเป็นการซ้ำเติมคนที่อยู่ข้างหลังเลย

ตายแล้วเจ้าหนี้มาแน่นอน

มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า หากผู้ตายเสียชีวิตไปแล้วในขณะที่มีหนี้อยู่ แน่นอนว่าเราจะต้องเจอกับบรรดาเจ้าหนี้ที่จะต้องพากันมาทวงแน่นอน (ทวงก่อนได้ก่อน) อย่างแรกเลยก็คือ อย่าเพิ่งเซนต์เอกสารอะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับหนี้ ให้เอามาอ่านก่อน เพราะเราคงกำลังเหนื่อยกับการจัดงานศพ และรับแขก การเซนต์เอกสารไปแบบมั่วๆอาจจะทำให้เราเสียสิทธิ์และเสียเปรียบตอนที่ไปประนอมหนี้ได้นะ สรุปว่าไม่เซนต์อะไรดีที่สุด

หนี้จ่ายได้ไม่เกินมรดกที่ได้รับ

มาถึงเรื่องสำคัญที่เราต้องเข้าใจตรงกันนั่นก็คือ เราต้องจ่ายหนี้ทั้งหมดกี่บาท คำตอบก็คือ เราจะชำระหนี้ได้ไม่เกินมรดกที่เราได้รับ อย่างเช่น นาย ก. เป็นบิดาของ นาย ข. หากนาย ก. ตายไป นาย ข. ซึ่งเป็นลูกก็จะเป็นทายาทตามกฏหมาย(ยกเว้นว่ามีพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น) ทีนี้พอไปตรวจสอบดูแล้ว นาย ก. เป็นหนี้อยู่ 500,000 บาท แต่ทิ้งมรดกไว้ให้กับนาย ข. เพียงแค่ 300,000 บาท แสดงว่า นาย ข. ก็จะชำระหนี้ได้เพียงแค่ 300,000 บาท ส่วนอีก 200,000 บาท ก็ถือว่าเป็นหนี้สูญไป แต่กลับกันหากนาย ก. ทิ้งมรดกไว้ที่ 1,000,000 บาท นาย ข. ก็ต้องเอาเงินนี้ไปจ่ายหนี้ก่อน 500,000 บาท แล้วก็ค่อยเอาเงินส่วนที่เหลือเป็นมรดกไป

เจ้าหนี้ เอากับ เงินที่มี ไม่ได้มาเอากับเรา

อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การที่เจ้าหนี้มาทวงเงินในกรณีที่ผู้ตายไปแล้วนั้น เค้าจะมาทวงเอาเงินเท่านั้น ลูกเมียไม่ต้องตกใจไป มีเงินมรดกแค่ไหน ก็ให้เค้าได้แค่นั้น อย่าไปเชื่อคำขู่ว่าจะยึดบ้าน ยึดรถอะไรนั่น หากต่อรองว่าจะชำระได้ตามที่เราทำได้แล้วเจ้าหนี้ไม่ยอม การไปขึ้นศาลเพื่อให้ท่านตัดสินว่าจะให้จ่ายอย่างไรเป็นทางออกที่ดี ส่วนตัวเชื่อว่าเจ้าหนี้คงไม่อยากจะไปถึงศาลแน่นอน เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าศาลท่านตัดสินว่า ไม่ต้องชำระเพิ่มแล้ว

อายุความ 1 ปี เรื่องสำคัญ

อีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหนี้บัตรเครดิตในกรณีที่ตายไปแล้วก็คือ เรื่องของอายุความ ตรงนี้กฏหมายกำหนดไว้ว่า หากลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี(โดยไม่ต้องถึงกำหนดชำระหนี้) หากไม่ฟ้องร้องจะถือว่าขาดอายุความ สำคัญตรงไหน ตรงที่ว่าหากเกิน 1 ปีแล้ว เจ้าหนี้ไม่มาฟ้องเอาเงินที่ค้างไว้ เค้าก็ไม่มีสิทธิ์มาเรียกร้องให้ทายาทของผู้ตายนำเงินมรดกมาชำระหนี้ได้อีก ซึ่งหากเจ้าหนี้มาฟ้องร้องให้เราจ่ายเงินหลังจากหมดอายุความไปแล้ว เราก็สามารถเอาเรื่องนี้ไปอ้างกับศาลได้ ซึ่งก็มีตัวอย่างกันมาแล้วว่า ทายาทของลูกหนี้ชนะซะด้วย

สรุปว่า ถ้าหากเราเป็นหนี้แล้วตายไป เจ้าหนี้ก็สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงแค่เท่ากับมรดกที่ได้เท่านั้น หากเกินกว่านั้นก็ไม่ต้องจ่าย (ก็ไม่มีจะให้จ่ายยังไง) ส่วนอายุความที่เจ้าหนี้จะฟ้องร้องเรียกเงินจากลูกหนี้ที่ตายไปแล้วคือ 1 ปี ถ้าเกินกว่านี้ก็หมดสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ดี เราขอแนะนำว่าหากมีหนี้ก็ควรจะต้องบอกคนในครอบครัวให้รู้แต่เนิ่นๆ อย่าปิดบังกัน เพราะความตายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน แต่มีหนี้แล้วต้องชำระเป็นเรื่องแน่นอน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook