ผู้มีรายได้น้อย เฮ! ครม.ไฟเขียว 2 แบงก์รัฐ ปล่อยกู้ฉุกเฉินแก้หนี้นอกระบบ 1 หมื่นล.
ครม.ไฟเขียวออมสิน-ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ฉุกเฉิน 1 หมื่นล้านบาท ช่วยปลดหนี้นอกระบบ 2 แสนราย โดยให้กู้รายละ 5 หมื่นบาท กู้ไม่เกิน 5 ปี คิดดอกเบี้ยต่ำ 10% ต่อปี พร้อมขออนุมัติรัฐบาลจ่ายชดเชย เอ็นพีแอล 4,000 ล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อธนาคารละ 5,000ล้านบาท รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท
โดยกำหนดให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท มีระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี คาดว่าจะครอบคลุมประชาชนและเกษตรกรในกลุ่มดังกล่าวประมาณ 200,000 ราย
สำหรับโครงการดังกล่าว ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนที่มีการประกอบอาชีพ หรือเป็นเกษตรกรที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว โดยต้องไม่เป็นการรีไฟแนนซ์หนี้ในระบบเดิม ซึ่งจะต้องยื่นขอกู้เงินภายใน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินเดือนละ 0.85% หรือประมาณ 10% ต่อปี ผู้กู้ต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1คน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อ จะดูความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้ และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก
"ทั้งนี้ ทั้ง 2 ธนาคารได้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ เพื่อรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแล้ว แต่ยังมีประชาชนทั้งที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคารได้ และมีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล ทั้ง 2 ธนาคารจึงเสนอโครงการดังกล่าวขึ้นมา สำหรับบริการทางการเงินกับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อนำไปใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือแก้ปัญหาคามเดือดร้อนในครัวเรือน "
อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการดังกล่าว เป็นการให้สินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้สูง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อใดๆ ของธนาคารได้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน จึงขอรับการชดเชยความเสี่ยงหายจากรัฐบาล สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการไม่เกิน 40% ของสินเชื่ออนุมัติ โดยรัฐบาลจะชดเชยสูงสุด กรณีที่เกิดเอ็นพีแอลทั้งโครงการ ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการชดเชยให้ทั้ง 2 ธนาคาร แห่งละ 2,000 ล้านบาท