“กองทุนยุติธรรม” กองทุนเพื่ออิสรภาพ

“กองทุนยุติธรรม” กองทุนเพื่ออิสรภาพ

“กองทุนยุติธรรม” กองทุนเพื่ออิสรภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียนขอสารภาพว่าพึ่งรู้จัก “กองทุนยุติธรรม” ตอนไปงานที่เมืองทองเมื่อปี 59 นี้เอง เจ้าหน้าที่ประจำบูทเล่าเรื่องราวของกองทุนยุติธรรมว่ามันคืออะไร ช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เราฟังจบแล้วก็รู้ว่ามันมีประโยชน์และช่วยเหลือคนอื่นๆได้อีกเยอะมาก ก็เลยค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและเรียบเรียงจนเป็นบทความนี้

 

มันเป็นเรื่องที่เราควรรู้ เพราะในอนาคตคนในครอบครัว เพื่อนบ้านหรือว่าคนที่เรารู้จักอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ถูกกล่าวหาแล้วไม่มีเงินไปประกันตัว อาจจะติดคุกฟรี หรือเป็นผู้เสียหายที่ถูกคนอื่นทำร้ายจนกระทั่งขึ้นศาลก็ได้ เราหวังว่าจะให้บทความนี้ช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังได้รับความลำบากจากความไม่ยุติธรรมต่างๆ ให้มีอิสรภาพออกมาดูแลคนในครอบครัวและหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองต่อไปนะจ๊ะ ^^

 

“เงินประกันตัว ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล”

เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการต่อสู้คดีความในชั้นศาล ซึ่งทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจะต้องใช้จ่าย เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเอง ทุกขั้นตอนล้วนมีค่าใช้จ่าย ในกรณีที่เรามีกำลังทรัพย์เพียงพอก็จะมีเงินมาใช้จ่ายได้

 

ในขณะที่บางคนชีวิตยากลำบากหาเช้ากินค่ำ จึงไม่มีเงินมาใช้จ่าย แม้รู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำผิด แต่ก็อาจจะต้องปล่อยให้คดีเงียบไป ติดคุกฟรี บางคนก็ไปกู้ยืมเงินมาต่อสู้คดีจนกลายเป็นหนี้สิน ในขณะที่บางคนไม่มีเงินมาประกันตัวก็จะต้องถูกคุมขังระหว่างรอการตัดสินของศาล

 

“กองทุนยุติธรรม” เป็นกองทุนที่ช่วยเหลือให้กับทั้งผู้ที่เป็นโจทก์และจำเลย มีเงินใช้ในการดำเนินคดีต่างๆ เช่น มีเงินประกันตัว เพื่อกลับมาดูแลครอบครัว มีเงินจ้างทนายไว้ปรึกษาเรื่องคดีความ รวมถึงหาหลักฐานอื่นๆเพื่อพิสูจน์ความจริงของตัวเองในชั้นศาลต่อไป

 

เริ่มต้นกองทุนยุติธรรม

กระทรวงยุติธรรมก่อตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้นในปี 2549 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2559 ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

 

กองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง

เงินประกันตัว (การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย)
ค่าทนายความ (ในคดีอาญา แพ่ง ปกครองหรือบังคับคดี)
ค่าธรรมเนียมศาลและค่าธรรมเนียมอื่นๆ
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าพาหนะเดินทาง ที่พัก
การคุ้มครองพยานช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัย
ความเสียหายจากการกระท าความผิดอาญา ปกครอง หรือละเมิดที่กระทบต่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 10รายขึ้นไป หรือกระทบต่อ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามวัตถุประสงค์
ที่มา http://www.rlpd.go.th/rlpdnew/images/rlpd_3/2558_01/01-16-09-58.pdf

 

ใครมาขอความช่วยเหลือได้บ้าง

การช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ

1. ถ้าเราเป็นฝ่ายโจทก์

เราเป็นผู้เสียหาย ถูกละเมิดสิทธิ์และต้องการยื่นฟ้องร้องคดี ซึ่งส่วนใหญ่กองทุนยุติธรรมจะให้การช่วยเหลือเรื่องของ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาล

 

2. ถ้าเราเป็นจำเลย

เราเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นคนที่ยังไม่มีความผิด จนกระทั่งพิสูจน์และศาลตัดสินลงโทษแล้ว ซึ่งกองทุนยุติธรรมจะให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทนายความและค่าใช้จ่ายประกันตัว

 

ก่อนจะอนุมัติเงินช่วยเหลือให้กับใคร เจ้าหน้าที่นิติกรของกองทุนจะต้องตรวจสอบประวัติก่อน ดูว่ามีรายได้เท่าไหร่และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง รวมถึงไม่มีสถานะทางสังคมใดๆที่จะต่อสู้คดีความได้ โดยจะลงดูพื้นที่จริงของผู้มาขอรับความช่วยเหลือ ถ้าลำบากจริงๆก็จะให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าพอมีฐานะอยู่บ้างก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะจะได้นำเงินไปช่วยเหลือคนอื่นที่ยากลำบากมากกว่า

 

ตัวอย่างขั้นตอนการขอเงินประกันตัว

ผู้ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจะต้องติดต่อไปยื่นเรื่อง (ช่องทางติดต่ออยู่ในหัวข้อถัดไป)
ทางสำนักงานยุติธรรมจังหวัดก็จะไปรวบรวมหลักฐาน คือ การรับรองของครอบครัวผู้ที่จะมาประกันตัวว่าหากมีการหลบหนีจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง
รวบรวมหลักฐานเสร็จก็ให้ทางอนุกรรมการพิจารณาแล้วก็จะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งแต่ก่อนเจ้าหน้าที่กองทุนยุติธรรมจะนำเงินสดไปประกันตัว ปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นการใช้หนังสือแทนการรับรอง ซึ่งจะมีผลตามทางกฎหมาย

ช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือ

ใน กทม.

ο กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทวงยุติธรรม เบอร์โทร 02-5026741 , 02-5026743 , 02-5026760 โทร 1111 กด 77 www.rlpd.go.th , www.jfo.moj.go.th


ต่างจังหวัด

ο สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ
ο กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรม

 

ตัวอย่างผู้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

 

jf1

คดีแพะรับบาปของนายทรงกลด ทรัพย์มี อายุ 31 ปี ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีข่มขื่น กระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี คดีปี 2552 ที่ผ่านมาถูกจำคุก 1 ปี 1 เดือน ทายาทจึงร้องขอความเป็นธรรมจากสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อรื้อคดี จนสืบได้หลักฐานว่าไม่ใช่ผู้ก่อเหตุและได้รับเงินช่วยเหลือประกันตัว 1 ล้านบาทจากกองทุนยุติธรรม

 

jf2

นายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา เป็นพนักงานเก็บขยะของ กทม. มีรายได้ 7,000 บาทต่อเดือน มีลูกและภรรยา มีอาชีพแยกขยะขายเป็นรายได้เสริม วันหนึ่งในกองขยะมีซีดี 83 แผ่น เขานำไปขายข้างถนน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในข้อหามีแผ่นซีดีจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต

จึงถูกจำคุกทำให้เสียงาน เสียเวลา และยังต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อใช้ต่อสู้คดี (ถูกจับแล้วไม่มีเงินเสียค่าปรับ) ถ้าไม่มีเงินจะต้องติดคุกแทนค่าปรับยันหมดคดีความ เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงและถูกดำเนินคดี แต่ก็ต้องจ่ายค่าประกันตัว 200,000 บาท เพื่อจะได้ออกมาข้างนอกมาดูแลลูกต่อไป ตอนนั้นเขาคิดว่าจะต้องคิดคุกแน่ๆเพราะไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับ

เมื่อกองทุนยุติธรรมรู้เรื่อง จึงอนุมัติหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวจำนวน 240,000 บาท ทั้งในศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฏีกา ทำให้สุรัตน์กลับมาทำหน้าที่พ่อและดูแลครอบครัวและรักษางานที่ทำไว้ได้ ในขณะนั้นมีคนบริจาคเงินช่วยเหลือเขาเยอะมาก เขาก็ยังแบ่งเงิน 20,000 บาทเพื่อมา บริจาคที่กองทุนยุติธรรม 20,000 บาท เพื่อสมทบช่วยเหลือคนอื่นๆต่อไป

 

jf3 

กลุ่มชาวบ้านกลุ่มพนมสารคามกว่า 39 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโรงงานที่รับจัดการกากของเสียอุตสาหรรมที่ปล่อยน้ำเสียทำลายสิ่งแวดล้อม นานกว่า 10 ปี แม้ว่าจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องก็จะต้องมีค่าธรรมเนียมฟ้อง ในคดีนี้จะต้องใช้เงินมากกว่า 54,600 บาท กองทุนยุติธรรมอนุมัติเงินช่วยเหลือเป็นค่าธรรมเนียมศาลปกครอง ค่าทนายความ ค่าคุ้มครองพยานก่อนเป็นคดี

 

jf4

ชายพิการ หูหนวก เป็นใบ้ ตกเป็นจำเลย ประกันตัวเป็นเงิน 700,000 บาท

 

jf5

ตำรวจตกเป็นจำเลย "กองทุนยุติธรรม" กองทุนเพื่ออิสรภาพ

 

jf6

ชาวเลราไวย์ "กองทุนยุติธรรม" กองทุนเพื่ออิสรภาพ

 

เราจะเห็นว่าขั้นตอนการขอความยุติธรรมนั้นล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น นอกจากเกิดความเจ็บปวดในจิตใจของเราแล้ว ยังจะต้องเสียเงินที่เก็บสะสมมาอีกด้วย ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องเลวร้ายแบบนี้ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องหาทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ซึ่ง “กองทุนยุติธรรม” ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจะช่วยเหลือทางด้านการเงินให้เราผ่านพ้นเรื่องคดีความต่างๆออกมาได้

 

 

แหล่งข้อมูล

กองทุนยุติธรรม
กองทุนยุติธรรม หลัง พ.ร.บ.ประกาศใช้
กองทุนยุติธรรมกับการช่วยเหลือประชาชน 
รายการผู้หญิงกับกฎหมาย ตอน พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม 

 

ap1

อภินิหารเงินออม

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook