“ภาษีหุ้นชินคอร์ป” จบแล้ว! นับถอยหลัง 18 วัน หมดอายุความ “วิษณุ” เตรียมเรียกหารือ
หมดช่องเอาผิด! "ภาษีหุ้นชินคอร์ป"จบแล้ว! นับถอยหลัง 18 วัน หมดอายุความ “วิษณุ” เตรียมเรียกหารือ
นับถอยหลังอีก 18 วัน อายุความการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ไม่มีกม.ใดเรียกเก็บภาษีทักษิณได้อีก
ความพยายามในการเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ดูจะล้มเหลว เพราะจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม นี้ ในขณะที่กรมสรรพากรเอง ยืนยันว่า อายุความของคดีนี้หมดไปตั้งแต่ปี 2555 แล้ว
โดยกรมสรรพากร แจงคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปสิ้นสุดแล้วตั้งแต่ 31 มี.ค.55 ยอมรับไม่มีกฎหมายใดสามารถเรียกเก็บได้อีก ส่วนข้อเสนอขยายอายุการประเมินภาษี ตามมาตรา 3 อัฎฐ แห่งประมวลรัษฎากร ทำได้เฉพาะกรณีเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษ
ด้านสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้เสนอให้ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีอายุความ 10 ปีนั้น ในกรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการกำหนดอายุความ จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น จะใช้กฎหมายทั่วไป หรือ จะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้
นายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวกับทีมข่าวสปริงนิวส์ ว่า ภายในสัปดาห์นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือข้อกฎหมายในการเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น เพื่อหาข้อสรุปทางกฎหมายในการออกหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้ เพราะบางหน่วยงานยังมีความเห็นขัดแย้งกัน
โดยที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นว่า กรมสรรพากรไม่สามารถขยายเวลาออกหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนเพื่อประเมินภาษีได้ เพราะประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ระบุว่า อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนได้ภายใน 5 ปี และมีการหารือเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขยายเวลาออกหมายเรียก ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรค 2 แต่มีการพิจารณาว่า เจตนารมณ์ของมาตรานี้ จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการให้คุณแก่ผู้เสียภาษีเท่านั้น
ในขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.เสนอให้ใช้มาตรา 61 ที่ระบุว่ากรณีบุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญที่แสดงว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญได้
นายประภาส กล่าวว่า ถ้าการประชุมของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ข้อสรุป ก็จะมีข้อสั่งการมาที่กรมสรรพากร เพื่อให้ดำเนินการต่อ และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย อาจจะรายงานให้คณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบ