คลัง ลงนาม ตั้ง 2 กลุ่ม ติดตั้งเครื่องรับชำระเงิน ฯ เดินหน้า อีเพย์เมนท์ฯ
คลังเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ National e-Payment ต่อเนื่อง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเลือกผู้ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ระหว่างคณะอนุกรรมการคัดเลือกและกำกับดูแลผู้ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้มีสิทธิ์ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) จำนวน 2 ราย ได้แก่
กลุ่ม Consortium ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และ
กลุ่มกิจการค้าร่วมโครงการอีเพเม้นท์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นพยานภาครัฐ นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ และนายยศ กิมสวัสดิ์ เป็นพยานภาคเอกชน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน อนุกรรมการและเลขานุการร่วมในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจมีช่องทางการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ส่งเสริมการกระจายเครื่องรับบัตรหรือจุดรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยมีเป้าหมายในการกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) แก่ร้านค้าและหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ รวมประมาณ 560,000 ราย
ในปัจจุบันรัฐบาลได้จัดทำและผลักดันแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดยระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพจะช่วยอำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ในส่วนของโครงการที่ 2 คือ โครงการขยายการใช้บัตร ได้ก้าวมาถึงจุดสำคัญ โดยภายหลังพิธีลงนามวันนี้ ผู้ให้บริการจะเริ่มทยอยวางอุปกรณ์ฯ ทันที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2561
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย จะดำเนินการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและร้านค้า โดยจะเห็นได้จาก การปรับลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรเดบิตที่ปกติจะเก็บในอัตรา 1.5 – 2.5 % ของมูลค่าเงินที่ชำระ เป็นเพียงไม่เกิน 0.55% เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจให้กับร้านค้าและจูงใจให้ร้านค้าเลือกรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และจะไม่มีการเก็บค่าเช่าและค่าติดตั้งอุปกรณ์ฯ โดยอาจเก็บค่ามัดจำเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย โดยร้านค้าจะได้คืนเมื่อยกเลิกการใช้บริการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนร้านค้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ฯ โดยให้ร้านค้าสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการรับบัตร (MDR) ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ จะช่วยร้านค้าให้ติดตั้งเครื่อง EDC ได้มากขึ้น
อีกทั้งกระทรวงการคลังยังจะมีมาตรการจูงใจผ่านการชิงโชคการใช้บัตรเดบิตให้ประชาชนและร้านค้า เพื่อกระตุ้นการใช้บัตรและชำระเงินในระบบอีเพย์เมนต์ โดยจะจัดแคมเปญแจกรางวัล ให้ผู้ใช้และร้านค้าได้มีสิทธิลุ้นโชคจากการชำระเงินผ่านเครื่องรับบัตรและตู้ ATM เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 (สำหรับผู้ที่ใช้บริการในเดือนพฤษภาคม 2560) ซึ่งรางวัลจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 84 ล้านบาท