รัฐบาลสั่ง “สรรพากร” เรียกประเมินภาษี “ทักษิณ” ขายหุ้นชินคอร์ป 1.6 หมื่นล้าน!
วันที่ 13 มี.ค.60 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ ”สปริงนิวส์” ว่า การหารือเรียกเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นให้กลุ่มเทมาเส็กเมื่อปี 2549 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้กรมสรรพากรเรียกประเมินภาษีเงินได้จากนายทักษิณกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เหมือนกับที่กรมสรรพากรเคยเรียกประเมินภาษีกับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวนายทักษิณ เพราะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้
ในที่ประชุมวันนี้นั้น รายงานข่าวกล่าวว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรยืนยันว่า ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้อีก เพราะคดีภาษีมีอายุความ 5 ปี นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วในปี 2550 อายุความคดีนี้จึงสิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2555
ขณะที่นายพิสิฐ ลีลาวัชโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แย้งว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้มีอายุความ 10 ปี ยังสามารถเรียกเก็บภาษีได้ โดยเสนอให้นำมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากรมาใช้ จากนั้นที่ประชุมได้หารือกันอย่างกว้างขวาง
รายงานข่าวกล่าวว่า สุดท้ายที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า หากกรมสรรพากรไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ ข้าราชการกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่หากกรมสรรพากรเรียกประเมินภาษีจากนายทักษิณก็ยังสามารถ ยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษีของกรมสรรพากรได้อีก และถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษีของกรมสรรพากรยังเห็นว่านายทักษิณมีภาระภาษีที่ต้องจ่าย
นายทักษิณก็สามารถยื่นฟ้องกรมสรรพากร และคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษ ขอให้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินภาษีได้ เเละต้องรอว่า หากเรื่องนี้มีคำพิพากษาออกมาอย่างไรจะได้ยุติและเป็นบรรทัดฐาน