ไขข้อข้องใจ: การขอคืนเงินจอง

ไขข้อข้องใจ: การขอคืนเงินจอง

ไขข้อข้องใจ: การขอคืนเงินจอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การขอคืนเงินจองสามารถขอคืนได้หรือไม่ในกรณีใดบ้างตามข้อกำหนดของกฏหมาย หลายท่านไม่แน่ใจ สงสัย TerraBKK รวบรวมได้ว่า 3 เรื่องหลักนี้สามารถขอคืนเงินจอง หรือเงินมัดจำคืนได้

เงินจองคืออะไร

เงินจองตามข้อตกลงแห่ง หนังสือ/สัญญาจองซื้อ หมายถึง เงินมัดจำ ซึ่งเงินมัดจำนี้อาจจะไม่ได้มีเรียก หรือระบุว่า เป็นเงินมัดจำ แต่หากคู่สัญญาประสงค์จะให้เป็นมัดจำ ก็ย่อมเป็นเงินมัดจำ

มัดจำไม่ได้ถือเป็นเงินที่ตกลงกันไว้เพื่อเป็นการชำระหนี้ล่วงหน้า แต่เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่า หนังสือ/สัญญาจองซื้อนั้นได้ทำกันไว้แล้วจริง อีกทั้งยังเป็นหลักประกันว่า ผู้จองซื้อซึ่งเป็นผู้วางเงินมัดจำจะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อผู้รับจองตามข้อตกลงในหนังสือ/สัญญาจองซื้อห้องชุดนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 “ เมื่อเข้าทำสัญญาถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำ นั้น ย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกัน การที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”

มาตรา 378 “ มัดจำ นั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไป ดังจะกล่าว ต่อไปนี้ คือ

1 ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้

2 ให้ริบ ถ้า ฝ่ายที่วางมัดจำ ละเลยไม่ชำระหนี้ หรือ การชำระหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์ อันใดอันหนึ่ง ซึ่ง ฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือ ถ้า มีการเลิกสัญญา เพราะ ความผิดของฝ่ายนั้น

3 ให้ส่งคืน ถ้า ฝ่ายที่รับมัดจำ ละเลยไม่ชำระหนี้ หรือ การชำระหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์ อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ ”

กรณีก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด และ กรณีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

เกิดจากฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ เงินมัดจำต้องส่งคืนแก่ผู้วางเงินมัดจำ ตามมาตรา 378 ทั้งนี้คู่สัญญาสามารถตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามมาตรา 378 แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการทำนิติกรรม และต้องไม่ขัดต่อ พระราชบัญญัติข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ข้อ 7. ตลอดจน ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกรรมขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 8.6

กู้ธนาคารไม่ผ่าน เงินจองเป็นของใคร

เมื่อกู้เงินกับธนาคารไม่ผ่าน กรณีย่อมเป็นเรื่องการชำระหนี้เงินซื้อบ้านกับทางโครงการ ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ และก็ไม่ใช่ความผิดของท่านซึ่งเป็นลูกหนี้ ท่านในฐานะลูกหนี้ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ค่าซื้อบ้านกับทางโครงการ และโครงการย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนด้วย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 และมาตรา 372

ดังนั้น ทางโครงการจะต้องคืนเงินจองทั้งหมดให้แก่ท่าน และหากไม่คืนกรณีย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของท่านที่จะได้รับเงินจองคืนตามกฎหมาย ชอบที่ท่านจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเรียกให้โครงการคืนเงินดังกล่าวได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 55 ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook