ฉ้อโกงบัตรเครดิต ป้องกันได้ เริ่มต้นที่ตัวคุณ

ฉ้อโกงบัตรเครดิต ป้องกันได้ เริ่มต้นที่ตัวคุณ

ฉ้อโกงบัตรเครดิต ป้องกันได้ เริ่มต้นที่ตัวคุณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้เหล่ามิจฉาชีพมีอยู่ทุกหนแห่ง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่เดินผ่านเราไปนั้นเป็นโจรหรือไม่ แถมกลโกงในการโจรกรรมบัตรเครดิตก็สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบางที ระบบป้องกันของธนาคารก็ตามไม่ทันเหมือนกัน ดังนั้น การจะป้องกันการโจรกรรมบัตรเครดิต ก็ต้องเริ่มต้นที่คุณด้วย MoneyGuru.co.th จึงขอนำเสนอวิธีการป้องกันการ ฉ้อโกงบัตรเครดิต จากมิจฉาชีพมาฝากกันค่ะ

ล็อกสมาร์ทโฟน
ขั้นแรกสุดคุณควรล็อกสมาร์ทโฟนของคุณเมื่อไม่ใช้งานค่ะ โดยสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน สามารถล็อกได้โดยอัตโนมัติ เมื่อผ่านไปชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือตามระยะเวลาที่คุณตั้งค่าไว้ แต่หากว่าสมาร์ทโฟนของคุณซึ่งมีข้อมูลส่วนบุคคล และแอพพลิเคชั่นการเงินอยู่ในนั้นตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ ผลที่ตามมาอาจเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะมิจฉาชีพจะได้ข้อมูลส่วนตัวของคุณไปหมด รวมไปถึงหากใช้บัตรเครดิตออนไลน์ แล้วมีการยืนยันตัวตนด้วย OTP เหล่าโจรก็จะสามารถผลาญเงินของคุณไปได้อย่างรวดเร็ว

ฉีกใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตก่อนทิ้งทุกครั้ง
สำหรับคุณผู้อ่านบางท่าน มักจะเก็บใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตเอาไว้ เพื่อติดตามสถานะบัตรเครดิต แต่รู้หรือไม่ว่า การเก็บใบแจ้งหนี้เอาไว้ อาจจะทำให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลได้ ดังนั้น ไม่ควรเก็บเอาไว้นาน ๆ และก่อนที่คุณจะทิ้งใบแจ้งหนี้เหล่านั้น คุณควรฉีกมันก่อนที่คุณจะโยนทิ้งลงถังขยะทุกครั้ง หากไม่ทำเช่นนั้น ถังขยะของคุณอาจเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีของเหล่ามิจฉาชีพ ในการค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับคุณและบัตรเครดิตของคุณ และใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อทำการโจรกรรมบัตรเครดิตของคุณได้โดยง่าย

ไม่เขียนหมายเลข PIN บนกระดาษ
การเขียนรหัส PIN บัตรเครดิตบนกระดาษ แล้วแนบไว้พร้อมกับบัตรเครดิต บางคนอาจจะขี้ลืม ก็เลยเขียนติดเอาไว้ เวลาต้องการใช้จะได้สะดวก ซึ่งหากกระเป๋าสตางค์ของคุณหาย มีความเป็นไปได้สูงมากที่บัตรเครดิตของคุณ จะถูกมิจฉาชีพนำมาใช้ในการเบิกถอนเงินหรือทำธุรกรรมผิดกฎหมาย เนื่องจากคุณได้ทำให้วิธีของมิจฉาชีพง่ายขึ้นโดยไม่รู้ตัวนั่นเองค่ะ ทางที่ดีที่สุด ควรเปลี่ยน PIN เป็นรหัสที่มีแต่คุณเท่านั้นที่รู้ และไม่ควรใช้รหัสที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณ เช่น วันเกิด เลขบัตรประชาชน ทะเบียนรถ เลขที่บ้าน เป็นต้น

ไม่ใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ
อีกหนึ่งความเสี่ยงสูงที่อาจทำให้ข้อมูลบัตรเครดิตของคุณรั่วไหล นั่นก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะข้อมูลเหล่านั้นจะถูกบันทึกเอาไว้ใน browser history อย่างไรก็ตาม คุณอาจจะคิดว่าถ้าออกจากระบบหลังจากทำธุรกรรมทางออนไลน์เรียบร้อยแล้ว คุณอาจปลอดภัยจากมิจฉาชีพ แต่คุณคิดผิดเพราะมันไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่หลายคนคิด หากคุณจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะในการทำธุรกรรมออนไลน์จริง ๆ เราของแนะนำว่า ให้ทำการลบ browser history และการบันทึกรหัสต่าง ๆ ทันที ทุกครั้งหลังจากทำธุรกรรมเสร็จเรียบร้อย แต่เราของเตือนคุณผู้อ่านเอาไว้ตรงนี้ ว่าวิธีนี้ไม่ปลอดภัย 100%

ไม่ใช้ Wifi สาธารณะในการทำธุรกรรม
นอกจากนี้ คุณรู้หรือไม่ว่าแฮกเกอร์มีวิธีล้วงข้อมูลของคุณจากเครือข่าย Wifi สาธารณะ เช่น ในโรงแรม ในห้างสรรพสินค้า ในสนามบิน หรืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ทันทีที่คุณทำธุรกรรม ข้อมูลการเข้าสู่ระบบและรหัสผ่านของคุณ จะถูกเปิดเผยกับเหล่าแฮกเกอร์ทันที ดังนั้น การใช้ Wifi สาธารณะ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัย เช่นเดียวกันกับการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ ทางที่ดีที่สุดคือ รอทำธุรกรรมบทคอมพิวเตอร์และ Wifi ที่ปลอดภัย เช่น ที่บ้าน หรือทำธุรกรรมที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้จะเป็นการดีที่สุด

ตรวจเช็กสถานะบัตรเครดิตเป็นประจำ
การเข้าไปดูรายการบัญชีบัตรเครดิตของคุณเป็นประจำ เพื่อดูว่ามีธุรกรรมหรือการถอนเงินสดที่คุณไม่ได้ทำหรือไม่ หากคุณพบว่าข้อมูลบัตรเครดิตของคุณคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คุณควรขอรายการเครดิตบูโร และนำไปแจ้งความ และแจ้งต่อไปยังธนาคารผู้ออกบัตร เพื่ออายัดบัตรเครดิต และยืนยันกับธนาคารว่าบัตรเครดิตของคุณถูกโจรกรรม และแสดงสิทธิ์ว่าคุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากอายัดบัตรเครดิตนี้แล้ว ให้ธนาคารเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป

โดยอีกหนึ่งวิธีที่จะติดตามสถานะบัญชีบัตรเครดิตของคุณโดยง่ายก็คือ การใช้บริการ SMS แจ้งเตือนทุกการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หากมีการใช้บัตรเครดิตเกิดขึ้น โดยที่คุณไม่ได้เป็นผู้ใช้ คุณจะรู้ตัวทันทีและสามารถอายัดบัตรเครดิตได้อย่างรวดเร็ว

ปกปิดรหัส CVV ไว้เป็นความลับ
หากมีคนโทรมาถามรหัสผ่านหรือหมายเลข CVV ของคุณ (หมายเลขสามหลักที่อยู่ด้านหลังบัตรของคุณ ซึ่งใช้สำหรับการยืนยันตัวตนผู้ถือบัตร) คุณควรวางสายโทรศัพท์ทันที เพราะพวกนั้นอาจจะเป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบของพนักงานจากองค์กรต่าง ๆ เช่น พนักงานธนาคาร พนักงานขายประกัน เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อมีคนถามข้อมูลลับของคุณคุณควรวางสายก่อนและโทรหาธนาคาร เพื่อตรวจสอบว่าพวกเขาได้ติดต่อคุณมาจริง ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ การมอบบัตรเครดิตให้กับพนักงานขายตามร้านค้าต่าง ๆ คุณควรจับตาดูบัตรเครดิตของคุณอย่าให้คลาดสายตา เพราะพนักงานเหล่านั้น อาจจะเป็นมิจฉาชีพและแอบจดบันทึกรายละเอียดบนบัตรของคุณไปก็ได้ ทางที่ดีที่สุด ควรจดจำหรือจดรหัส CVV เก็บเอาไว้ในที่ปลอดภัย และทำการลบรหัส CVV หลังบัตรของคุณทิ้ง ด้วยการขีดทับด้วยปากกาหมึกถาวร หรือติดสก็อตช์เทปทับเอาไว้ก็ได้

ทุกวันนี้ เล่ห์กลของเหล่ามิจฉาชีพนั้น มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น คุณผู้อ่านทุกท่านควรปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้เอาไว้ เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้นจากเหล่าโจรนะคะ และหากท่านใดอยากจะติดตามบทความและข่าวสารเกี่ยวกับรถยนต์ การเงิน สินเชื่อ บัตรเครดิต และประกันรถยนต์ ก็สามารถกด Subscribe เพื่อรับสาระความรู้แบบนี้จาก MoneyGuru.co.th ได้เลยค่ะ เราจะส่งตรงถึงอีเมลของคุณทุก ๆ สัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook