3 เรื่องเงินที่ “ฟรีแลนซ์” ควรรู้
แฟนเพจหลายคนโพสต์มาถามว่าเป็นฟรีแลนซ์ มีรายได้ขึ้นๆลงๆ จะออมเงินยังไง มีวิธีจัดการเงินแบบไหนบ้าง แล้วถ้ามีหนี้ด้วยจะทำอย่างไร อืมมมม เป็นคำถามที่น่าสนใจมากๆ คิดว่าน่าจะมีหลายคนที่เป็นแบบนี้ เราขอตอบพร้อมกันในบทความ “3เรื่องที่ฟรีแลนซ์ควรรู้” ทีเดียวเลยนะจ๊ะ
จากประสบการณ์ในอดีตที่เคยทำงานประจำและปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ทำให้รู้อย่างหนึ่งว่ามันมีวิธีจัดการเรื่องเงินที่แตกต่างกัน สำหรับคนที่กำลังจะลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์และคนที่เป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้วก็อาจจะนำไอเดียนี้ไปลองปรับใช้ดูนะจ๊ะ (บทความนี้จะเขียนวิธีการจัดการเงินของฟรีแลนซ์นะจ๊ะ ส่วนคนที่ทำงานประจำอ่านได้ที่ บทความนี้ 4 ขั้นตอนสร้างบัญชีเงินเดือนขั้นเทพ!! คลิกที่นี่)
รายได้ของฟรีแลนซ์
ฟรีแลนซ์หรือคนที่ทำงานอิสระ แม้ว่าได้ทำงานตามความฝันก็จริง แต่มันเป็นอาชีพที่มีรายได้แปรปรวนยิ่งกว่าคนวัยทอง บางเดือนมีเงินก้อนไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ให้เราบันเทิงเริงใจ บางเดือนเงินเข้ามาแบบกระปริบกระปรอยให้พอมีประทังชีวิตไปวันๆ ในขณะที่บางเดือนน้ำตาเล็ดเพราะไม่มีเงินกระเด็นเข้ากระเป๋ามาเลยสักบาท
ยัง!! ยัง ยังไม่หมดแค่นี้ ถ้าคิดที่จะรักอิสระก็ต้องดูแลตัวเอง ด้วยการจ่ายประกันสังคม ซื้อประกันชีวิต ซื้อประกันสุขภาพและเก็บเงินเกษียณเอง นี่แหละคือชีวิตจริงของฟรีแลนซ์ เมื่อมีเงินเข้ากระเป๋ามาแล้วก็จะต้องหาวิธีจัดการให้มันอยู่กับเรานานๆ เพื่อจะได้มีลมหายใจไปต่อยอดความฝันต่อไปนะจ๊ะ
3 เรื่องเงินที่ฟรีแลนซ์ควรรู้
เรื่องแรก รู้จักเงินในกระเป๋าของตัวเอง?
เราควรรู้ว่าปัจจุบันการเงินของตัวเองเป็นอย่างไร ทั้งฝั่งรายรับและฝั่งรายจ่าย เช่น มีรายได้จากทิศทางไหนบ้าง มีเงินเก็บไว้ที่ไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ มีหนี้สินที่ต้องจ่ายทุกเดือนเท่าไหร่ และมีรายจ่ายส่วนตัวอะไรบ้าง จะทำให้เราเห็นภาพรวมเงินของตัวเองมากขึ้น
แผนที่การเงินของเรา…
จุดนี้เองที่วิธีจัดการเงินของฟรีแลนซ์แตกต่างกับคนที่ทำงานประจำ เพราะเราจะให้ความสำคัญกับหนี้สินเป็นอันดับแรก เมื่อได้มีรายได้เข้ามาก็นำไปจ่ายหนี้สิน แบ่งไปออมเงิน แล้วค่อยนำไปใช้จ่ายกับเรื่องส่วนตัว เพราะอะไรถึงมองแบบนี้คำเฉลยอยู่ที่เนื้อหาถัดไปนะจ๊ะ
สมการเงินออมของฟรีแลนซ์
รายได้ – หนี้สิน – เงินออม = รายจ่ายส่วนตัว
เราแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน ตามนี้นะจ๊ะ
ส่วนที่ 1 หนี้สิน
รายได้ไม่แน่นอน มาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่หนี้สินนี่ซิ มันมาหาเราทุกเดือนแบบตรงเวลาเป๊ะ เราจะรู้ว่าแต่ละเดือนต้องจ่ายหนี้เท่าไหร่ ถ้าเราแกล้งลืมหรือจ่ายล่าช้าก็จะทำให้เสียเครดิต มีประวัติด่างพร้อยในเครดิตบูโร แล้วถ้าในอนาคตเราต้องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน (เช่น ซื้อบ้าน ลงทุนทำธุรกิจ) มันก็จะยากมากขึ้น หรือเสียดอกเบี้ยแพงกว่าคนอื่น อุต๊ะ!! มันส่งผลเสียยาวเป็นหางว่าวเลยนะจ๊ะ
สาเหตุนี้เองที่ฟรีแลนซ์ควรให้ความสำคัญกับหนี้สินเป็นอย่างแรก ถ้าพลาดแค่ครั้งเดียว อนาคตมืดมนกันเลยทีเดียว และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ เราจะรู้ตัวเองว่าสามารถสร้างหนี้ได้อีกเท่าไหร่ ที่จะทำให้ตัวเองไม่เดือดร้อน
ควรแบ่งหนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ หนี้ระยะสั้น (บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หนี้นอกระบบ) และหนี้ระยาว (ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ) ว่ามีทั้งหมดเท่าไหร่ ตอนนี้จ่ายรายเดือนเท่าไหร่ จะหมดหนี้ช่วงไหน ถ้าเขียนออกมาได้ชัดเจนก็จะรู้ว่า ตัวเองควรมีเงินขั้นต่ำที่เป็นเงินฉุกเฉินเก็บไว้ในบัญชีเท่าไหร่
ตัวอย่าง ใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% เดือนละ 1,000 บาท 6 เดือน และผ่อนบ้าน 20 ปี เดือนละ 15,000 บาท แสดงว่าเราจะต้องจ่ายหนี้เดือนละ 16,000 บาท (จำตัวเลขนี้ไว้เพราะจะนำมาคำนวณเงินฉุกเฉินในหัวข้อต่อไป)
ส่วนที่ 2 เงินออม
เขียนเป้าหมายชีวิตของตัวเองออกมาว่าในอนาคตต้องการอะไรบ้าง ในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อจะได้หาตัวช่วยเก็บเงินให้สำเร็จตามที่คิดไว้ เช่น วางแผนซื้อบ้าน ท่องเทียว เรียนต่อ เกษียณลั้นลา ฯลฯ เพราะวิธีการเก็บเงินแต่ละแบบนั้นเหมาะกับเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกัน
แบ่งเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้น กลางและยาว พร้อมกับจับคู่กับวิธีการเก็บเงิน
ตัวอย่าง ถ้าเราต้องการเก็บเงินไว้ใช้ตอนช่วงที่เกษียณอายุ แต่เอาไปไว้ที่ฝากออมทรัพย์ เพราะมันง่าย รู้ว่าฝากเงินแล้วก็ได้รับดอกเบี้ย ไม่ชอบการลงทุนแบบอื่นๆที่มีหลายขั้นตอนและใช้เอกสารเยอะ
เราควรมองอีกมุมหนึ่งนะจ๊ะ แม้ว่าการฝากออมทรัพย์มันง่ายกับเราก็จริง แต่เงินก้อนนี้อาจจะอยู่ไม่ถึงวันที่เราเกษียณก็ได้ เพราะเราอาจจะถอนออกมาใช้หมดก่อน
สิ่งสำคัญ คือ เงินของเรามันมีค่าลดลงทุกวันๆ ดูจากราคาข้าวราดแกง แต่ก่อนจานละ 15-20 บาท ตอนนี้ราคาจานละ 40-50 บาท ถ้าเรามีเงิน 100 บาทเก็บไว้ในออมทรัพย์เฉยๆก็จะซื้อของได้น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการลงทุนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะรักษามูลค่าของเงินเอาไว้ได้ แต่จะลงทุนอะไรก็ต้องเหมาะสมกับความเสี่ยงของเรา
ดังนั้น ควรหาวิธีเก็บเงินที่จะช่วยบังคับให้เราเก็บเงินเกษียณ โดยเก็บไว้ที่ที่ถอนออกยากๆ และถ้าให้ผลตอบแทนพอๆกับเงินเฟ้อหรือมากกว่าก็จะดีมากเพราะรักษามูลค่าของเงินได้อีกด้วย เช่น RMF กอช. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสังคม
ส่วนที่ 3 รายจ่ายส่วนตัว
ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง ควรรู้ว่าแต่ละเดือนเราใช้จ่ายเท่าไหร่กับสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้ชีวิตของเราอยู่รอดและสิ่งบันเทิงเริงใจที่จะทำให้ชีวิตสดชื่น การแบ่งรายจ่ายส่วนตัวมันมีประโยชน์ช่วงที่บางเดือนไม่มีรายได้เข้ามาหรือเข้ามาน้อย เราจะได้รู้ว่าควรใช้จ่ายเพื่อให้ “มีชีวิตรอด” เท่าไหร่ และควรงดรายจ่ายส่วนที่ “มีชีวิตลั้นลา” เท่าไหร่ เพื่อจะประคับประคองให้มีลมหายใจไปสร้างฝันของเราต่อได้
เรื่องที่สอง เงินฉุกเฉินสำคัญที่สุด!!
เงินฉุกเฉินสำคัญมากๆเพราะมันจะเป็นตัววัดว่าเราจะไปรอดหรือไม่รอด ถ้าช่วงไหนไม่มีรายได้เข้ามา จะได้ดึงเงินก้อนนี้มาใช้จ่ายได้ หลายคนไม่ได้เตรียมเงินก้อนนี้เผื่อไว้หรือเตรียมไว้น้อยเกินไป พอถึงช่วงเวลาไม่มีงานหรือลูกค้าจ่ายเงินช้า ก็จะต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่นหรือว่าไปกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย คราวนี้แหละหายนะบังเกิด นอกจากไม่มีงาน ไม่มีเงินและยังเป็นหนี้อีกด้วย สุดท้ายเราอาจจะอดตายก่อนที่ความฝันจะเป็นจริงนะจ๊ะ
คำถามต่อมาว่าเราจะต้องเตรียมเงินฉุกเฉินเท่าไหร่ อันนี้ก็ตอบยากเพราะแต่ละคนได้รับเงินช้าเร็วแตกต่างกัน ถ้าจะให้สมจริง เราควรจำลองสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิตเพื่อมาคำนวณเงินฉุกเฉิน เช่น
ถ้าเกิดอุบัติเหตุเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน ต้องจ่ายค่ารักษา เราเลือกว่าจะใช้เงินฉุกเฉินจากที่ไหน เช่น เงินของตัวเองทั้งหมด หรือ ใช้ความคุ้มครองจากประกันสังคม หรือ ใช้เงินจากประกันสุขภาพ
ถ้าไม่มีรายได้เข้ามา 1 ปี และยังต้องจ่ายหนี้เหมือนเดิม จำนวนเงินฉุกเฉินที่เราจะเก็บควรเพียงพอกับหนี้สินที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น จากตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหนี้สินจากข้อแรก เรามีรายจ่ายเดือนละ 16,000 บาท ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้เท่าไหร่
เก็บเงินฉุกเฉิน 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย คือ 48,000 – 96,000 บาท
บางคนกังวลว่าจะไม่พอใช้อาจจะเก็บไว้ 6-12 เท่าของรายจ่าย คือ 96,000 – 192,000 บาท
เราอาจจะแบ่งเก็บไว้ใช้แบบด่วนจี๋ที่จะต้องเป็นเงินสดใช้ได้ทันทีไว้ที่ ATM และแบ่งส่วนที่เหลือไว้ที่เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงหรือว่ากองทุนรวมตลาดเงินก็ได้
เรื่องที่สาม ใช้เงินให้เข้ากับสถานการณ์
ช่วงใกล้ๆสิ้นเดือนก็จะรู้ว่ามีรายได้อะไรเข้ามาบ้าง จำนวนเงินเท่าไหร่ จากนั้นก็ดูว่ามันพอกับหนี้สินและรายจ่ายส่วนตัวของเรามั๊ย จะได้วางแผนว่าเดือนต่อไปจะต้องจัดการเงินอย่างไร
แบ่งสถานการณ์การเงินออกเป็น 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 การเงินเป็นบวก คือ รายได้ > รายจ่าย
เราใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ก็ไม่ควรประมาท เมื่อได้รับเงินมาแล้วก็นำไปจ่ายหนี้สิน นำไปเก็บออมและสุดท้ายก็นำไปใช้จ่ายส่วนตัว
แบบที่ 2 การเงินติดลบ คือ รายได้ < รายจ่าย
มันอาจจะเป็นช่วงที่ลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงิน ทำให้เดือนนั้นมีเงินไม่พอจ่ายหนี้สิน แสดงว่าเดือนต่อไปเรามีเงินไม่พอใช้ จำเป็นจะต้องดึงเงินฉุกเฉินออกมาใช้ก่อน เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงหรือว่าขายกองทุนรวมตลาดเงิน ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ประหยัด แต่ถ้าติดลบหลายๆเดือนก็จะต้องหาวิธีแก้ไขก่อนที่เงินฉุกเฉินของเราจะหมดลง ว่าจะหารายได้เพิ่มอย่างไรด้วยนะจ๊ะ
คำถามอื่นๆ
คำถาม : ถ้ามีเงินก้อนที่ต้องจ่ายปีละ 1 ครั้งจะเก็บไว้จ่ายยังไง?
คำตอบ : ถ้ารอให้ถึงวันแล้วจ่ายตูมเดียว อาจจะกลายเป็นภาระหนักได้นะจ๊ะ เราควรแบ่งเงินออกเป็นรายเดือนจะได้รู้ว่าควรเก็บเดือนละเท่าไหร่ ถ้าเดือนไหนไม่มีเงินเข้าก็อาจจะไปเฉลี่ยเก็บในเดือนต่อไปให้มากขึ้น เช่น มีเงินก้อนต้องจ่ายปีละ 24,000 บาท ควรแบ่งเก็บไว้ที่ “เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง” เดือนละ 2,000 บาท พอถึงกำหนดก็ถอนออกมาจ่าย การทยอยเก็บเงินจะไม่สร้างภาระรายจ่ายหนักๆให้เรานะจ๊ะ
วิธีจัดการเงินทั้งหมดนี้เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนตัว ที่ทำแล้วใช้ได้ผลจึงนำมาเรียบเรียงให้ฟรีแลนซ์คนอื่นๆนำไปประยุกต์ใช้ เริ่มจากเราจะต้องรู้จักเงินในกระเป๋าของตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร มีรายได้ รายจ่ายอะไรบ้าง พร้อมกับเตรียมเงินฉุกเฉินไว้พร้อมตลอดเวลา สุดท้ายก็จะต้องปรับวิธีการใช้เงินให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็นบวกหรือติดลบ หากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอะไรก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ เพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์มากขึ้น ขอบคุณนะจ๊ะ ^^
อภินิหารเงินออม