5 เทคนิคเลือกกองทุนสไตล์ Morningstar
หนึ่งในคำถามยอดฮิตตลอดกาลของทั้งผู้ลงทุนหน้าใหม่และผู้ลงทุนที่คุ้นเคยกับตลาดอยู่แล้วนั้นคงหนีไม่พ้น คำถามที่ว่า “ซื้อกองทุนอะไรดี” นี่ถือเป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุดตั้งแต่ทำงานมาเลยก็ว่าได้ ทั้งจากคนรอบข้าง เพื่อน ญาติสนิท คนในครอบครัวและนักลงทุนที่พบเจอเวลาไปออกบูธต่างๆ
โดยที่จริงแล้วนั้นผมก็อยากจะมีคำตอบสั้นๆพร้อมให้กับทุกคนที่มาถาม แต่ในความเป็นจริงผมก็ไม่สามารถตอบได้ง่ายๆอย่างนั้นเพราะจริงๆแล้วนั้นมันไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนทุกคน (One size doesn’t fit all) นั้นเอง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะไม่มีคำตอบให้เลยซะทีเดียวเพราะโดยทั่วไปแล้วนั้นการที่คนเรานั้นจะลงทุนในอะไรก็ตามไม่เฉพาะแต่ซื้อกองทุนรวม เราทุกคนควรจะมีเป้าหมายของการลงทุนเป็นที่ตั้ง หลังจากนั้นเป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดเองว่ากองทุนแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา ซึ่งเป้าหมายทางการลงทุนของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไปหรือในคนๆเดียวนั้นก็อาจจะมีหลายๆเป้าหมายก็เป็นได้เช่นเดียวกัน อาทิเช่น
ลงทุนเพื่อการศึกษาบุตร เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือเพื่อการเกษียณ นอกจากนั้นเป้าหมายของการลงทุนที่เราตั้งเอาไว้นั้นยังสะท้อนให้เราเห็นถึงความเสี่ยงและระยะเวลาในการลงทุนอีกด้วยเช่นกัน
การลงทุนโดยไม่มีเป้าหมายนั้นก็เปรียบเสมือนการเดินทางโดยไร้จุดหมายนั้นเอง เราอาจจะเสียทั้งเวลา หลงทาง และที่สำคัญที่สุดก็คือ อาจจะไปไม่ถึงจุดหมายหรือไปไม่ทันเวลาก็เป็นได้
คราวนี้กลับมาที่คำถามสำคัญหลังจากที่เราได้ตัดสินใจตั้งเป้หมายในการลงทุนของเรากันแล้ว คำถามต่อมาก็คือ กองทุนไหนหละที่เราควรจะเลือกลงทุน วันนี้ผมมีเทคนิคง่ายๆ 5 ขั้นตอนสำหรับมือใหม่ไว้ใช้สำหรับเลือกกองทุนกันครับ
1.ผลตอบแทน (Return) - ซึ่งแน่นอนที่สุดเวลาลงทุนใครก็ต้องอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ แต่ผลตอบแทนที่โชว์อยู่ในเอกสารประกอบการขายนั้นนักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่ามันคือ ผลตอบแทนในอดีตซึ่งไม่ได้การันตีว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แล้วดูทำไม? (หลายคนคงงงๆ) ถึงแม้จะเป็นอดีตแต่มันก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้เราได้เห็นถึงความสามารถในอดีตที่ผ่านมาของกองทุนนั้นๆ และถ้าจะให้ดีการดูผลตอบแทนนั้นควรจะดูกันระยะยาวสักนิดหนึ่ง คือ มากกว่า 3ปีขึ้นไป และนำไปเปรียบเทียบกับทั้งค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่กองทุนนั้นๆอยู่นั้นเอง
2.ความเสี่ยง (Risk) – จุดนี้คือเรื่องสำคัญที่นักลงทุนหลายคนมักจะมองข้ามไป โดยความเสี่ยงที่เราพูดถึงนี้คือ ความผันผวนของผลตอบแทนนั้นเองซึ่งจะถูกเปิดเผยมาในค่าที่เรียกว่า ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน (Standard Deviation) ซึ่งถ้าค่ายิ่งน้อยก็คือ ยิ่งดี (ความผันผวนน้อย)
3.ค่าธรรมเนียม (Fees) – นี้คือจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนในกองทุนรวมเพราะนี่คือต้นทุนในการลงทุนซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ ค่าธรมมเนียมซื้อ/ขายซึ่งจะเก็บทุกครั้งที่เราทำการซื้อ/ขายกองทุน และค่าใช้จ่ายรวมที่เรียกเก็บรายปี (Total Expense Ratio) ซึงทั้ง 2 ส่วนนี้กองทุนไหนเรียกเก็บน้อยก็จะยิ่งดีเพราะจะทำให้ต้นทุนเราต่ำนั้นเอง
4.ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) – ตรงนี้อาจจะค้นหาข้อมูลกันยากสักหน่อยแต่ถือว่าสำคัญมากเพราะ Fund Manager คือผู้บริหารเงินลงทุนของเรา ดังนั้นการรู้จักหรือเข้าไปรับฟังวิสัยทัศน์ทางการลงทุนและทำความเข้าใจสไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
5.พอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) – การที่เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้นั้นเราต้องเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังลงทุนอยู่เพราะนั้นจะทำให้เรารู้ถึงรายละเอียดที่มาที่ไปของแหล่งที่มาของผลตอบแทนและความเสี่ยง
ฟังกันมาถึงตรงนี้นักลงทุนหลายท่านคงคิดว่าทำไมมันถึงมีหลายขั้นตอนอย่างนี้ แต่ต้องบอกเลยครับว่า มันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละครับ เพราะว่าเรื่องเงินๆทองๆ เรื่องการลงทุนไม่ใช่เรื่องเล่นๆที่เราจะทำไปแบบขอไปทีได้ และสำหรับการค้นหาข้อมูลรายละเอียดที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านสามารถหาได้จากทั้ง Fund Factsheet ของกองทุน หรือมาที่เว็ปไซต์ www.morningstarthailand.com ก็ได้เช่นเดียวกันครับ
บทความโดย กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ (kittikun.tanaratpattanakit@morningstar.com)